รอยพระพุทธบาท

ความเชื่อและการนับถือบูชารอยเท้า หรือรูปฝ่าเท้าของมนุษย์ผู้มีความความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งของเทพเจ้านั้น มีมาในประเทศอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฏอยู่ในทั้งศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ โดยศาสนิกชนในแต่ศาสนานั้น ต่างก็อ้างว่ารูปรอยต่าง ที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาตินั้น เป็นรอยพระบาทของเทพเจ้าหรือ
ศาสดาในศาสนาของตน
สำหรับในพุทธศาสนาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุด ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท คือ ปุณโณวาทสูตร (พระสุตตันติปิฏก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) โดยกล่าวถึงสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ ๒ แห่ง คือ ฝั่งแม่น้ำนัมมทา และบนภูเขาสัจจพันธ์คีรี ส่วนหลักฐานที่เป็นรอยและรูปพระพุทธบาทเริ่มพบในศิลปะอินเดียมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๓ (พ.ศ. ๒๐๑ - ๓๐๐) หลังจากนั้น จึงได้ปรากฏแพร่หลายทั่วไปในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา
รอยพระพุทธบาทแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้
๑.อุเทสิกเจดีย์ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า หรือเป็น ที่ระลึกถึงพระพุทธองค์ โดยมากมักทำเป็นพระพุทธบาทคู่ ซึ่งเป็นการประดิษฐ์มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป สืบเนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือว่า พระพุทธเจ้านั้น ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดจะมาเสมอเหมือนได้ ดังภาษาบาลีที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า “อปปฏิม”แปลว่า “ไม่มีภาพ ที่เทียบเท่า” ตราบจนในสมัยต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างรูปสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเป็นที่ระลึกถึง หรือเป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธองค์ เช่น ธรรมจักร ต้นโพธิ์ บัลลังก์ รวมทั้งรูปและ รอยพระพุทธบาท ที่เป็นรอยคู่ นั่นเอง
รูปพระพุทธบาทที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลปะอินเดียโบราณ เป็นภาพสลักนูนขนาดเล็ก ประกอบอยู่ในภาพสลักเล่าเรื่องที่บริเวณเสาลูกกรงตั้ง และส่วนประกอบของรั้วที่ล้อมรอบสถูปที่ภารหุต และสถูปที่สาญจี โดยเป็นเครื่องแสดงแทนพระพุทธองค์ ลักษณะของฝ่าเท้ามีรูปธรรมจักรปรากฏอยู่ตรงกลาง
๒. บริโภคเจดีย์ หมายถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ หรือวัตถุที่พระพุทธเจ้าเคย ใช้สอยหรือสัมผัสเป็นรอยที่คล้ายรอยเท้าที่ปรากฏตามที่ต่างๆ โดยมักเป็นรอยเดี่ยว เชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์เคยเหยียบประทับไว้เมื่อคราไปยังสถานที่นั้นๆ
๓. บริโภคเจดีย์โดยสมมติ คือรอยพระพุทธบาทจำลองที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยวัสดุต่างๆ โดยถือว่าเป็นการจำลองมาจาก “รอยพระพุทธบาทอันแท้จริง” ที่พระพุทธองค์ประทับประทานไว้ตามสถานที่ต่างๆ โดยถือว่ามีอานุภาพเสมือนรอยพระบาทอันแท้จริง สามารถบังเกิดความเป็น สิริมงคลให้ปรากฏในสถานที่นั้นๆ ดุจดังพระพุทธองค์ได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ เกิดอำนาจพุทธคุณปกปักษ์รักษาให้เป็นนิรันดร์
รอยพระพุทธบาทจำลองที่พบในปัจจุบัน นั้น มีทั้งที่เป็นแบบรอยเดี่ยว รอยคู่ และ รอยพระบาทจำนวน ๔ รอยเหยียบซ้ำทับกัน ในจารึกของพระมหาธรรมาราชาลิไทได้กล่าวถึงการที่พระองค์ได้โปรดให้จำลองรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏที่ศรีลังกามาประดิษฐานไว้บนภูเขา ๔ แห่งในแคว้นสุโขทัย ที่เมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย บางพานและพระบาง
รอยพระพุทธบาท
โบราณสถานวัดตระพังทอง
จากหลักฐานพบว่าได้มีการอัญเชิญลงมาจากยอดเขาพระบาทใหญ่ และมาประดิษฐานที่วัดตระพังทอง โดยมีจารึกได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทนี้ไว้ เช่น ศิลาจารึกนครชุม พ.ศ. ๑๙๐๐ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๕๑ - ๕๘) ความว่า
“พระบาทลักษณะนั้นไซร้พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีน…พระเป็นเจ้าเถิงสิงหลอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้จุ่งคนทั้งหลายแท้…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองสุโขทัย เหนือจอมเขานางทอง อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาที่ปากพระบางจารึกก็ยังไว้ด้วยทุกแห่ง”
ศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ พ.ศ. ๑๙๑๒ (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ - ๘) ได้กล่าวไว้อีกว่า
“เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฏบรรพต…เรียกชื่อดังอั้นเพื่อไปพิมพ์เอารอยตีนพระพุทธเจ้าเรา อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต…ในลังกาทวีปพู้นมาประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาอันนี้แล้วให้คนทั้งหลายได้เห็นรอยฝ่าตีนพระพุทธเป็นเจ้าเรานี้ มีลายอันได้ร้อยแปดสีส่อง”
ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑ – ๒๘
“ดับหนทางแต่เมืองสุโขทัยมาเถิงจอมเขานี้งามหนักหนาแก่กมสองขอก หนทางย่อมตั้งกัลปพฤกษ์ใส่รมยวล ดอกไม้ตามไต้เทียนประทีปเผาธูปหอมตระหลบ…ศักราช ๑๒๘๑ ปีกุน เมื่อพระศรีบาทลักษณขึ้นประดิษฐานไว้ในเขาสุมนกูฏบรรพต”
รอยพระพุทธบาท
โบราณสถานวัดเขาพระบาทน้อย
จากหลักฐานพบว่าเดิมรอยพระพุทธบาทนี้อยู่บริเวณในวิหารด้านหน้าของเจดีย์ประธาน และได้มีการนำลงมาประดิษฐานที่ห้องจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
รอยพระพุทธบาทนี้ปรากฏเป็นสี่รอยเหลื่อมซ้อนทับกัน แสดงถึงพระพุทธบาทของ อดีตพระพุทธเจ้าที่เคยมาประทับรอยไว้ก่อนหน้านี้ ทั้ง ๓ พระองค์ คือ ๑. พระกกุสันธะ ๒. พระโกนาคม และ ๓. พระกัสปะ ซึ่งรอยพระบาทที่ ๔ นั้น ก็คือรอยพระบาทของ พระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงกล่าวถึงวัดพระบาทน้อยว่า
“ที่ควรดูแห่งหนึ่ง คือ เขาพระบาทน้อย ซึ่งเป็นที่ราษฎรไปนมัสการกัน ทางไปใน ป่าและทุ่งเลียบลำน้ำใหญ่ลำหนึ่งในฤดูแล้งแห้งหมด และเห็นถนนตัดไไปมาตามนี้หลายสาย คงจะได้ทำขึ้นครั้งพระเจ้ารามคำแหง … ทางด้านตะวันออกของพระเจดีย์ มีวิหารย่อม ๆ หลังวิหารนี้มีเป็นแท่นติดกับฐานพระเจดีย์ ที่แท่นนี้มีศิลาแผ่นแบบแกะเป็นรอยพระพุทธบาท ลวดลายลบเลือนเสียมาก เพราะหน้าผานั้นแตกชำรุด …
รอยพระพุทธบาท
โบราณสถานวัดศรีชุม
รอยพระพุทธบาทนี้เป็นแผ่นหินสลักขนาดใหญ่ ติดไว้บนเพดานของอาคาร ณ มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโมงค์วัดศรีชุม ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อ ระหว่างบันไดตอนล่างกับตอนบน มีขนาดกว้าง ๖๒.๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๘๐ เซนติเมตร
บริเวณกลางรอยพระพุทธบาทนั้น มักทำเป็นรูปวงกลมหรือธรรมจักร หรือบางทีก็เป็นรูปกงจักร ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ที่เป็นวงล้อแห่งอำนาจ ถือว่าเป็นหนึ่งในมหาปุริสสลักษณะ (มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ) ที่สำคัญประการหนึ่ง และยังมีลักษณะประกอบ (อนุพยัญชนะ) อันเป็นมงคลอีก ๑๐๘ ประการปรากฏอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเรียงกันเป็นแถวล้อมรอบรูปวงกลมนี้ รูปมงคลเหล่านี้จึงถือเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกันทั้งอาณาจักรของทางโลกและทางธรรม
มงคลที่ปรากฏอยู่บนกลางรอยพระพุทธบาทที่ติดอยู่บนเพดานอุโมงค์วัดศรีชุม และสามารถเห็นได้ในปัจจุบัน อาทิ ดอกพุดซ้อน บาตร มงกุฎ พระแท่น ซุ้มประตู ปลาทองเป็นคู่ แม่น้ำ ๗ สาย เสือ ม้าวลาหก ช้างอุโบสถ นก โค ภูเขา ปราสาท ดอกบัวต่างๆ เป็นต้น
หลักฐานที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศไทยนั้น คือการพบรอยพระพุทธบาทคู่ ที่เมืองโบราณศรีมโหสถ วัดสระมรกต อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นร่องรอยในอารยธรรมทวารวดี กำหนดอายุน่าจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓(พ.ศ.๑๐๐๐ -๑๓๐๐) สลักจาก ศิลาแลง ความกว้างทั้งคู่ประมาณ ๓.๑๐ เมตร ตรงกลางของฝ่าพระพุทธบาทนั้นสลักนูนเป็น รูปธรรมจักรขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๑๐ เมตร
ในช่วงแรกของการสร้างรอยพระพุทธบาท จะมีการสลักเป็นแบบตามธรรมชาติ แต่สลักลวดลายวงกลมเป็นรูปพระธรรมจักรซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแสดงให้ทราบว่าเป็น รอยพระบาทของพระพุทธองค์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเสด็จมาเพื่อบำเพ็ญพุทธกิจ
ภายหลังด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ทำให้มีการประดับลวดลายบน ฝ่าพระพุทธบาทมากขึ้นตามลำดับ นอกเหนือไปจากลายวงล้อพระธรรมจักร ซึ่งได้แก่ลายมงคล 108 ประการ อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งมหาบุรุษลักษณะ
ลายมงคล 108 ประการ ประกอบขึ้นด้วย
1.สัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความเจริญและความอุดมสมบูรณ์
2.เครื่องประกอบบารมีของพระมหากษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ
3.ส่วนประกอบทางรูปธรรมและนามธรรมของสุคติภพในจักรวาล
ทั้งหลายเหล่านี้รวมเป็นมงคลทั้ง 108 ประการ อันแสดงออกถึงความเป็นสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันจักคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่ บูชาพระองค์
รอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัยพบทั้งรอยพระพุทธบาทแบบเดี่ยว และแบบคู่ ในจารึกสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ 19 ระเบียบลำดับของมงคลเป็นแบบ เดียวกันกับที่เมืองพุกาม คือเริ่มต้นที่ใต้หัวแม่เท้าเดินตามแนวนอนไปจนสุดความกว้างของรอยพระบาท วนลงสู่แนว ส้นเท้า แล้วย้อนขึ้นตีวงแคบเข้าทุกทีจนจบลงที่ตรงกลาง ต่อมาพบพระพุทธบาทที่มี การเปลี่ยนแปลงระเบียบการจัดมงคล 108 ประการที่รับแบบจากพุกาม พบที่รอยพระบาทจำลองสลักหินรอยหนึ่งจาก วัดศรีชุม ระเบียบการจัดลายที่สืบเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์คือ ระเบียบอันแสดงแผนผังของสุคติภูมิแห่งจักรวาล มีพรหมโลกอยู่ด้านบนสุด เทวโลก เขาพระสุเมรุ โลกมนุษย์ เขาจักรวาล และมหาสมุทร อยู่ลดหลั่นกันลงมา
และยังพบระเบียบการจัดรูปมงคล อีกระบบหนึ่งซึ่งปรากฎแล้วในสมัยสุโขทัย หลังพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นรอยพระพุทธบาทที่มีรูป ธรรมจักรขนาดใหญ่ ภายในมีสัญลักษณ์มงคล 108 ประการ ในส่วนตรงกลางแสดงรูปพรหมโลก เทวโลกอันเป็นภูมิสูงสุดในจักรวาล จักรพรรดิรัตนะ ประกอบบารมีและเครื่องสูงของพระองค์ รวมทั้งมงคลอื่นๆ เป็นส่วนประกอบของมนุษย์อยู่รอบนอก การจัดมงคลในระบบตารางซึ่งนิยมมาก่อนแล้วใน สมัยสุโขทัยนั้น ได้กระทำสืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา และเป็นที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 22-23)
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ลายมงคล 108 ประการ นั้น นิยมบรรจุลงในตารางเช่นเดียวกันกับสมัยสุโขทัย และอยุธยา วงกลมกลางฝ่าพระบาทที่เคยเป็นธรรมจักร ไม่มีสัญลักษณ์แทรกในวง และมักเป็นรูปดอกบัวบานเป็นสัญลักษณ์ของโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนได้ เช่นวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)วัดประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้ สร้างวิหารพระนอนเพิ่มเติม
ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปองค์นี้ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั่วทั้งองค์ ยาว 45 เมตร สูง 15 เมตร ส่วนฝ่าพระบาทปรากฏลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล108 ประการเช่นกัน
------------------------------------------------
เอกสารอ่านประกอบ
นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเซียใต้ และเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2533.
บุญเลิศ เสนานนท์. ตำนานพระพุทธบาทและคัมภีร์พุทฺธปาลกฺขณ.กรุงเทพฯ : ศรีอนันต์การพิมพ์, 2536.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.