ระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
พ.ศ. ๒๕๑๘
.......................................
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมคมวางระเบียบมหาเถรสมาคมไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๑๘”
ข้อ ๒ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ “หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล”
หมายถึง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลแห่งราชอาณาจักรซึ่งมีวัดตั้งอยู่ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนตามหัวข้ออบรม ดังนี้
(๑) ศีลธรรมและวัฒนธรรม
(๒) สุขภาพและอนามัย
(๓) สัมมาชีพ
(๔) สันติสุข
(๕) ศึกษาสงเคราะห์
(๖) สาธารณสงเคราะห์
(๗) กตัญญูกตเวทิตาธรรม
(๘) สามัคคีธรรม
ข้อ ๔ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ประกอบด้วยกรรมการดังต่อไปนี้
(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง
ก. ประธานกรรมการได้แก่เจ้าอาวาสแห่งวัดที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นใน
กรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปเดียวให้ประธานกรรมการมอบหมายให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตหลายรูป ให้ประธานกรรมการมอบหมายให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าประธานกรรมการมิได้มอบหมาย ให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตเลือกกันเองขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการ เว้นแต่ในกรณีที่มีรองประธานฝ่ายบรรพชิตรูปเดียว ให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน
ข. รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิต ได้แก่เจ้าอาวาสวัดอื่นทุกวัดในตำบลนั้น เว้นแต่ใน
กรณีที่เจ้าอาวาสวัดอื่นนั้นดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นไป ให้มอบหมายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดของตนเป็นรองประธานกรรมการในฐานะเจ้าอาวาสด้วย
ถ้าในตำบลนั้นมีวัดตั้งหน่วยอบรมเพียงวัดเดียว ให้เจ้าอาวาสเลือกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดนั้นเป็นรองประธานกรรมการ ถ้าเจ้าคณะตำบลในตำบลนั้นมิได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนหรืออยู่ที่วัดอื่น ให้เจ้าคณะตำบลเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษา
ค. รองประธานกรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ ได้แก่กำนันในตำบลนั้น ถ้าตำบลนั้นอยู่ในเขตเทศบาล
ให้มีผู้แทนเทศบาลเป็นรองประธาน ฝ่ายคฤหัสถ์
ง. กรรมการโดยแต่งตั้ง ได้แก่กรรมการซึ่งที่ประชุมกรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือกจาก
คฤหัสถ์ซึ่งเป็นทายกทายิกา ครูโรงเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลนั้น มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ คน และไม่เกิน ๙ คน เสนอเจ้าคณะอำเภอเพื่อแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น แต่งตั้งเลขานุการขึ้นรูปหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่การเลขานุการและถ้าเป็นการสมควรจะแต่งตั้งบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
ข้อ ๕ กรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในข้อ ๔ (๒) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ดำรงตำแหน่งครบ ๔ ปี
กรรมการผู้พ้นจากตำแหน่งตามความใน (ก) ข้างต้น อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
ข้อ ๖ การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อ ๔ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม
การลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการตามความในวรรคต้นให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมสั่งระงับเรื่องไว้ก่อน
การประชุมโดยปกติของคณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น ให้คณะกรรมการกำหนดขึ้นตามที่เห็นสมควร ส่วนการประชุมพิเศษ จะให้มีขึ้นเป็นครั้งคราวคามความจำเป็นก็ได้
ข้อ ๗ คณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เรียกชื่อย่อว่า “ คณะกรรมการ อ.ป.ต.”มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) จัดการอบรมประชาชนตามวัตถุประสงค์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้
และตามแนวการอบรมซึ่งคณะกรรมการ อ.ป.ต. จะได้กำหนดขึ้นโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
(๒) ปฏิบัติการช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนในตำบลนั้นตามกำลังและความสามารถ
(๓) แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และฝ่ายธุรการอื่นๆ กำหนดวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ
และเป็นการสมควรจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อมอบหมายให้พิจารณาหรือดำเนินการใดๆก็ได้
(๔) จัดการดูแล และรักษาทรัพย์สินของหน่วยอบรมให้เป็นไปด้วยดี
(๕) เสนอความเห็น หรือข้อขัดข้องต่อคณะกรรมการอำนวยการอบรมและปฏิบัติการตามคำแนะนำ
ชี้แจงของคณะกรรมการอำนวยการหรือผู้อำนวยการอบรมแล้วแต่กรณี
(๖) ติดต่อประสานงาน และขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง เพื่อให้การอบรมประชาชน
ดำเนินไปโดยสะดวกและเรียบร้อย
(๗) เสนอรายการกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในรอบปีต่อคณะกรรมการอำนวยการและ
ผู้อำนวยการอบรมตามลำดับ จนถึงคณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนกลาง
นอกจากกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้มีหน้าที่จัดตั้งห้องสมุดและเภสัชทานสถานประจำตำบลอีกส่วนหนึ่ง ตามวิธีการที่จะได้กำหนดขึ้น
ข้อ ๘ การประชุมอบรมประชาชนตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๓ จะดำเนินการโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ตามสมควรแก่กรณี คือ
(๑) การอบรมทั่วไปได้แก่การประชุมประชาชนทั่วไปในตำบลนั้น โดยเชิญวิทยากรมาอธิบายชี้แจง
แนะนำในทางวิชาการและการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของหน่วยอบรม
(๒) การอบรมเฉพาะกรณี ได้แก่การประชุมประชาชนเพียงบางส่วน เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่
เกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนนั้นๆ โดยวิธีการชี้แจงแนะนำซ้อมความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ
(๓) การอบรมเฉพาะบุคคล ได้แก่การจัดให้บุคคลมาพบปะสังสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
หรือชี้แจงแนะนำ ซ้อมความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับบุคคลนั้น
การประชุมอบรมตามวิธีการใน (๑) โดยปกติให้มีการประชุม เดือนละ ๑ ครั้ง ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการจะงดการประชุม หรือจะจัดให้มีการประชุมพิเศษก็ได้
ส่วนการประชุมอบรมตามวิธีการใน(๒) และ(๓) ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณีที่เกิดขึ้น
ข้อ ๙ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลอยู่ในความอำนวยการของคณะกรรมการอำนวยการ ตามลำดับดังนี้
(๑) คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำอำเภอ เรียกชื่อย่อว่า คณะกรรมการ อ.ป.อ. ประกอบด้วย
ก. กรรมการเจ้าหน้าที่โดยตำแหน่งได้แก่เจ้าคณะอำเภอเจ้าคณะสังกัดเป็นประธาน รองเจ้าคณะอำเภอเป็นรองประธานและเจ้าคณะตำบลทุกตำบลในเขตอำเภอนั้นเป็นกรรมการในกรณีที่ไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าคณะตำบลในเขตนั้นเป็นรองประธานกรรมการ
ข. กรรมการที่ปรึกษา ได้แก่นายอำเภอในเขตที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นตั้งอยู่และเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓ คน และไม่เกิน ๕ คน ตามที่นายอำเภอพิจารณาเลือกให้เข้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา
(๒) คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำจังหวัด เรียกชื่อย่อว่า คณะกรรมการ อ.ป.จ. ประกอบด้วย
ก. กรรมการเจ้าหน้าที่โดยตำแหน่ง ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัดเป็นประธาน รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นรองประธาน และเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอในเขตจังหวัดเป็นกรรมการ
ข. กรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นตั้งอยู่ และเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓ คน และไม่เกิน ๕ คน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเลือกให้เข้าเป็นกรรมการที่ปรึกษา
(๓) เจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด เป็นผู้อำนวยการอบรมประชาชนประจำภาคโดยตำแหน่ง
(๔) คณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.ก.” ประกอบด้วยประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน ๕ รูป ที่มหาเถรสมาคมจะได้แต่งตั้งขึ้นกับเจ้าคณะใหญ่ทุกหนเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากนี้มหาเถรสมาคมจะได้เชิญผู้แทนกระทรวงทบวงกรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยอบรมตามที่เห็นสมควรเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
ให้คณะกรรมการตาม (๑) (๒) และ(๔) แต่งตั้งเลขานุการขึ้นรูปหนึ่งเพื่อทำหน้าที่การเลขานุการ ถ้าเป็นการสมควรจะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการอีกรูปหนึ่งหรือหลายรูปก็ได้
ข้อ ๑๐ การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อ ๙ (๑) และ(๒) ต้องมีคณะกรรมการหน้าที่ มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเจ้าหน้าที่ทั้งหมด และต้องมีกรรมการที่ปรึกษาประชุมไม่น้อยกว่า ๑ คน จึงเป็นองค์ประชุม
การลงมติข้อปรึกษา ในที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวในวรรคต้น ให้นำความในข้อ ๖ วรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม การประชุมคณะกรรมการตามความในนี้ให้คณะกรรมการกำหนดตามควรแก่กรณี
ข้อ ๑๑ การประชุมและการลงมติ ข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการ อ.ป.ก. ให้นำความในข้อ ๖ วรรค ๑ และ วรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒ การพ้นตำแหน่งของกรรมการ อ.ป.ก. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในข้อ ๙ (๔)ให้นำความในข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๓ คณะกรรมการอำนวยการ และผู้อำนวยการอบรมประชาชนตามความในข้อ ๙ แต่ละชั้น มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) ควบคุมและส่งเสริมการอบรมประชาชนให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้
(๒) แก้ไขข้อขัดข้องเกี่ยวกับกิจการ ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้เป็นไปโดยชอบ
(๓) ตรวจตราชี้แจง แนะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเรียบร้อย
ข้อ ๑๔ ในอำเภอหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการ อ.ป.อ. มีความประสงค์ขอตั้งหน่วยอบรมประชาชน
ประจำตำบลใด ณ วัดใด ให้รายงานเสนอขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการ อ.ป.จ. เมื่อได้รับอนุมัติให้แต่งตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นและเปิดดำเนินการอบรมครั้งแรก และให้หน่วยอบรมนั้นรายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.จ.
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด มีอาณาเขตกว้างหรือมีประชาชนเป็นจำนวนมาก เพื่อสะดวกแก่ประชาชน จะจัดให้มีการอบรมเพิ่มขึ้น ณ วัดใดวัดหนึ่ง หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งในเขตตำบลนั้นตามที่คณะกรรมการ อ.ป.ต. เห็นสมควรก็ได้ ถ้าตำบลใดที่ไม่มีวัดตั้งอยู่เมื่อกำนันและผู้ใหญ่บ้านในเขตตำบลนั้นร้องขอต่อหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด ในคณะกรรมการ อ.ป.ต. จะจัดให้มีการอบรมเพิ่มขึ้น ณ ตำบลนั้นก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ อ.ป.ต. เห็นสมควรย้ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจากวัดหนึ่ง ไปอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน ให้รายงานเสนอผ่านคณะกรรมการ อ.ป.จ. จึงให้ย้ายได้ และให้คณะกรรมการ อ.ป.จ. รายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก. ในกรณีที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลล้มเลิกตามมติมหาเถรสมาคม บรรดาทรัพย์สินของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดที่หน่วยอบรมประชาชนนั้นตั้งอยู่
ข้อ ๑๕ เงินและพัสดุของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อาจได้รับจากผู้ศรัทธาบริจาค การดูแลรักษา และการจัดการเงินและพัสดุของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ให้ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติที่จะได้กำหนดขึ้น
ข้อ ๑๖ ให้เริ่มดำเนินการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นไป และให้ครบทุกตำบลภายในสิ้นปี ๒๕๒๑ เว้นแต่จะมีเหตุขัดข้องซึ่งยังไม่สามารถจะจัดตั้งภายในกำหนดดังกล่าวนั้น ให้คณะกรรมการ อ.ป.อ. รายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.
ประกาศ ณ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
..........................................................
บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบ
ระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๑๘
๑. หลักการ
ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลแห่งราชอาณาจักรซึ่งมีวัดอยู่
๒. เหตุผล
นับแต่โบราณกาลมา วัดวาอาราม นอกจากเป็นบุญสถานและเป็นสำนักอยู่ประจำของพระภิกษุสามเณรแล้ว ยังเป็นศูนย์ของประชาชนในถิ่นนั้น กับทั้งเป็นสถานดำเนินการอบรมแนะนำสั่งสอนและสงเคราะห์ประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งตามกำลังและความสามารถ
อีกประการหนึ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗(๓) บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
ฉะนั้น จึงสมควรตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลทำหน้าที่อบรมและปฏิบัติการ เพื่อประโยชน์แก่ ประชาชนในตำบลนั้นๆ โดยกำหนดวิธีการจัดตั้งพร้อมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์แนวการอบรมตลอดถึงการติดต่อประสานงานและการขอความร่วมมือจากฝ่ายบ้านเมืองตามวัตถุประสงค์ของหน่วยอบรม โดยมีคณะกรรมการหน่วยอบรมดำเนินการ ในความควบคุมของคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการตามลำดับขั้น ทั้งนี้เพื่อให้อบรมประชาชนแต่ละตำบลสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จประโยชน์ตามหลักการโดยประชาชน ตลอดถึงสำเร็จประโยชน์แก่ฝ่ายบ้านเมืองเป็นส่วนรวมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น .