แนะนำหน่วย อ.ป.ต.
………………….
“หน่วย อ.ป.ต.” เป็นชื่อย่อมาจาก หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เป็นความริเริ่มของคณะสงฆ์ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมการศาสนาก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ คือ
๑. เพื่อสงเคราะห์ประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ตำบลที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตั้งอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ
๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้าน และหน่วยงานราชการ ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญในทุก ๆ ด้าน ร่วมกัน เช่น การศึกษา ศีลธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนอาชีพต่างๆ เป็นต้น
๓. เพื่อเป็นศูนย์รวมความคิดและการแสดงออกในการพัฒนาชุมชนของประชาชนทุกหมู่เหล่า
๔. เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังความสามัคคี ในการช่วยเหลื่อซึ่งกันและกัน
๕. เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร ในการรับข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลอย่างถูกต้อง
เพื่อให้วัตถุประสงค์ทั้ง ๕ ประการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจำเป็นต้องปรับบทบาทของหน่วยงานให้มีความ คล่องตัว โดยการจัดตั้งองค์กรในรูปของคณะกรรมการตามระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พุทธศักราช ๒๕๑๘ และกรมการศาสนาได้วางหลักการและแนวทาง ในการพัฒนาด้านการศาสนา โดยเฉพาะ พระพุทธศาสนาไว้ ๕ ประการ คือ
๑.ประชาชนต้องได้รับการพัฒนาจิตใจให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม เข้าใจและปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโลกอย่างมีความสุข โดยมีการเผยแผ่หลักธรรมไปสู่ประชาชนในรูปแบบที่หลากหลายกว้างขวางและต่อเนื่อง
๒.การศึกษาของคณะสงฆ์ต้องปฏิรูปและยกระดับให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นรวมทั้งขยายผลออกไปให้กว้างขวางทั่วถึงทุกวัด
๓.ศาสนสถานสำหรับพุทธศาสนาคือ วัด ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแกนนำในการเผยแผ่หลักธรรมและให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน สามารถสงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนในทุก ๆ ด้านที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมายและพระธรรมวินัย
๔.ระดมสรรพกำลังจากศาสนิกชน และองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ให้มีส่วนร่วมทำนุบำรุงอุปถัมภ์ในกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนทุกคน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างองค์กรทางพระพุทธศาสนาด้วยกันและองค์กรทางศาสนาอื่น เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน
๕.เร่งรัดพัฒนาการด้านบริหารงานศาสนา เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของศสานา และเพื่อให้บุคลากรทางศาสนาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ