วัดตระพังทอง
อารามมีชีวิต กลางเมืองสุโขทัย(เก่า) สายใจวิถีชุมชน
วัดตระพังทอง ๑๖๔/๒ ถนนจรดวิถีถ่อง หมู่ที่ ๓ บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ในพิกัด ละติจูด ๑๗.๐๑๗๕๔๕ ลองติจูด ๙๙.๗๐๙๑๐๑
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับใบแทนการผูกพัทธสีมา พ.ศ. ๑๘๐๐ ที่ดินเฉพาะบริเวณที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ส.ค. ๑ เลขที่ ๗๒๘
วัดตระพังทอง เป็นวัดเก่าแห่งเดียวในเมืองสุโขทัย (เก่า) ที่เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา มีประวัติยาวนานเป็นอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในคราวที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จมาเมืองสุโขทัย ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ก็มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนอยู่แล้ว วัดตระพังทองยังมีความสำคัญทั้งทางด้านศูนย์กลางของวัฒนธรรมชุมชนเมืองเก่าแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษาที่สำคัญของชุมชนย่านนี้อีกด้วย ซึ่งก็นับว่าวัดตระพังทองคือใจบ้าน ใจเมือง ของชุมชนเมืองเก่าอย่างแท้จริงอย่างที่แยกกันไม่ออกเลยทีเดียว
ประวัติวัดตระพังทอง
วัดตระพังทองมีปรากฏชื่อขึ้นครั้งแรกในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ คือ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” โดยมีวัดตระพังทอง เมืองสุโขทัยเป็นฉากหนึ่งซึ่งในขณะนั้น พระยาสุโขทัย เงินขาดมือไม่มีพอส่งเงินพินัย (เงินค่าปรับเป็นภาคหลวง) จึงนำลูกสาวชื่อ นางแก้วกิริยา ไปขายฝากกับขุนช้างที่เมืองสุพรรณบุรีเป็นเงิน ๑๕ ตำลึง เมื่อขุนแผนไปตามหานางวันทองที่บ้านขุนช้างได้พบกับนางแก้วกิริยา จึงได้ให้เงินนางไถ่ถอนตัวเอง เมื่อนางแก้วกิริยาไถ่ตัวเองออกมาเป็นไทแล้ว ก็ไปทำมาค้าขายอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ต่อเมื่อได้พบขุนแผนอีกครั้งหนึ่งที่กรุงศรีอยุธยาจึงได้อยู่กินกันฉันผัวเมีย จนมีลูกชายคนหนึ่งชื่อ พลายชุมพล แล้ววันหนึ่ง พลายชุมพลก็หนีออกจากบ้านไปหาตา ยายที่เมืองสุโขทัย สองตายายเห็นว่าหลานยังเด็กนักยังไม่รู้หนังสือจึงพาไปฝากพระสังฆราช เจ้าอาวาสววัดตระพังทอง เพื่อร่ำเรียนหนังสือและธรรมในพระพุทธศาสนา ดังบทเสภาว่า
แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งหลานชาย ให้นุ่งลายห่มแพรม่วงดวงพุดตาน
ยายเพ็ญจันทร์นั้นนุ่งตารางไหม ห่มปักตะนาวใหม่สมภูมิฐาน
เจ้าขรัวตานุ่งผ้าปูมประทาน แล้วหยิบส่านมาห่มสมตัวครัน
ชวนหลานชายพลายน้อยออกเดินทาง ต่างกางร่มปีกค้างคาวกั้น
บ่าวถือพานทองรองตะบัน ตามกันออกไปวัดตระพังทอง
ถึงกุฎีท่านสังฆราชา ถามเจ้าเณรบอกว่าอยู่ในห้อง
ท่านยายตาพาหลานถือพานทอง ค่อยย่างย่องเข้าไปไหว้กราบลง ฯ
ครานั้น ท่านสังฆราชา แลมามั่นจิตว่าศิษย์สงฆ์
จึงร้องถามไปด้วยใจจง ชีต้นคงหรือไรไม่เข้ามา
ท่านผู้รั้ง ฟังถามหัวเราะคัก ไม่รู้จักผมหรือเจ้าคุณขา
ท่านสมภารตกใจใส่แว่นตา อ่อโยมพระยาดอกหรือคิดว่าใคร
ข้างหลังนั่นท่านผู้หญิงแก้วสินะ กินหมากคะโยม ขยดมาให้ใกล้
อาตมาขาแข้งมันขัดไป จึงมิได้บิณฑบาตยาจนา
ท่านทั้งสองผ่องแผ้วไม่เจ็บป่วย ดูกระชุ่มกระชวยอยู่หนักหนา
รูปพิศดูแม่โยมพระยา เหมือนจะหาได้อีกสักสองคน ฯ
ท่านสุโขทัยได้ฟังนั่งหัวร่อ จะหาอีกนั้นก็พอไม่ขัดสน
แต่ท่านยายหึงไม่หยุดเป็นสุดทน ทั้งสามคนหัวร่ององอไป
แล้วผินหน้ามาเรียกให้เจ้าพลาย เอาธูปเทียนไปถวายแล้วกราบไหว้
ฉันจะเอาหลานยามาฝากไว้ จงโปรดให้เรียนธรรมให้ชำนาญ
เออนี่ลูกใครที่ไหนเล่า จึงโยมเจ้าพระยาว่าเป็นหลาน
ท่านสุโขทัยไหว้กราบแล้วแจ้งการ ขอประทานลูกแก้วกิริยา
เมื่อโยมต้องเร่งเงินพินัยนั้น ไปยากอยู่เมืองสุพรรณเป็นหนักหนา
ขุนแผนเพื่อนรักใคร่ให้เงินตรา พากันมาอยู่บ้านวัดตะไกร
จึงเกิดพลายชุมพลคนนี้ เมื่ออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่
เดี๋ยวนี้เจ้าขุนแผนผู้แว่นไว โปรดให้ไปกินเมืองกาญจน์บุรี
ท่านสมภารว่าอ่อ ออทองแก้ว มันมีลูกผัวแล้วเจียวหรือนี่
เมื่อกระนั้นท่านพามากุฎี ใส่ตุ้มปี่คงไม่รอดมันทอดทิ้ง
เมื่อรูปไปบ้านท่านคราวแล้ว เห็นออแก้วมันยังผูกกระจับปิ้ง
ดูคืนวันนั้นกระชั้นเข้าจริงจริง ช่างโตเร็วเจียวยิ่งทั้งหญิงชาย
นี่หรือโยมพระยากับข้าเจ้า มันจะมิแก่เฒ่าน่าใจหาย
แล้วลูบหลังลูบหน้าว่าออพลาย ลูกผู้ชายหน้าตาน่าเอ็นดู
เองอุตสาห์ร่ำเรียนทั้งเขียนอ่าน เป็นทหารเหมือนพ่อเถิดออกหนู
จะให้นอนห้องในใกล้กับกู จะได้ดูมันด้วยช่วยระวัง ฯ
ท่านพระยาสุโขทัยยายเพ็ญจันทร์ ต่างรำพันพูดพูดจาแล้วฝากฝัง
จนจวนสวดมนต์ค่ำย่ำระฆัง ก็อำลามายังที่บ้านเรือน ฯ
ต่อมาพลายชุมพลได้เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในตำแหน่งบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงนายฤทธิ์” ผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพันวษา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา จากเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน นี้ทำให้เห็นว่างานวรรณกรรมที่มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีภาพพจน์ของวัดตระพังทองและเมืองสุโขทัยที่มีชีวิต ซึ่งอย่างน้อยที่สุด กวีราชบัณฑิตก็คงมีความเกี่ยวข้องหรือเคยพบเห็นวัดตระพังทองบ้างไม่มากก็น้อยจึงได้นำภาพบรรยากาศของวัดตระพังทอง เมืองสุโขทัย มาเป็นฉากของเรื่องราวนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในราวรัชกาลที่ ๕ วัดตระพังทอง ได้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยมีพระยารณชัยชาญยุทธ (ครุท) รั้งตำแหน่งพระยาจางวางเมืองสุโขทัยเป็นผู้รับรองการเสด็จในครั้งนั้น ปรากฏในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลก ว่า
“...เวลาบ่าย ๔ โมง ๔๕ ออกไปดูตระพังทอง ซึ่งอยู่ข้างที่พัก ตระพังเปนภาษาเขมร เห็นจะแปลว่าสระ ตระพังทองเปนสระกว้างประมาณ ๔ เส้นครึ่ง สี่เหลี่ยม กลางมีเกาะกว้าง ๒ เส้น สี่เหลี่ยม ในเกาะมีวัดเรียกว่า วัดตระพังทอง มีพระเจดีย์ลังกาสูงประมาณ ๑๒ วา อยู่กลาง ข้างด้านหน้าตะวันขึ้น มีวิหาร ข้างด้านหลังตะวันตกมีโบสถ์ ข้างข้างทั้งด้านเหนือแลใต้ มีพระเจดีย์เล็ก ๆ เรียงเปนแถวทั้งสอง ด้านอย่างที่เขียนไว้ในแผนที่สุโขทัย นั้น สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นล้วนแต่ชำรุดพังทั้งนั้น แต่โบสถ์ได้มุงหลังคาแฝกไว้ ท่านพระยาจางวาง ท่านจัดการ เพราะวัดนี้ท่านใช้เปนที่พักรักษาอุโบสถของท่าน มีกระท่อมน้อย ปลูกลงในตระพังข้างหลังเกาะหลังหนึ่งเปนที่ท่านอยู่จำศีล แลท่านได้ชักชวนพระมาอยู่ ปลูกกุฎีแฝกไว้ข้างเกาะ ด้านเหนือหลัง ๑ ให้พระอยู่ แต่ไม่ใคร่สำเร็จ เพราะพระที่มาอยู่ทนจู๋ไม่ไหว อยู่หน่อยแล้วก็ไป จะหาว่าหากินไม่ได้ก็ไม่เชิง เพราะบ้านคนในเมืองเก่านี้ก็มี จะเปนด้วยพวกในเมืองนี้จนไม่มีอะไรให้กิน ฤๅมันเปลี่ยวไม่สนุกโปกฮาก็ไม่ทราบ พระจึงไม่อยู่ แต่เมื่อเวลาไปคราวนี้พระมีอยู่ ท้องตระพังมีน้ำเฉาะแฉะ มีหญ้าและอ้ายรกๆ ต่างๆ ขึ้นใช้ไม่ได้...”
ในการเสด็จคราวนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงประทับที่ที่พักบริเวณด้านตะวันออกของวัดตระพังทอง เมื่อตรวจสอบจากแผนที่ที่พระยารณชัยชาญยุทธถวายไว้ก็น่าจะเป็นบริเวณตลาดชุมชนวัดตระพังทองนี่เอง
.jpg)
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๒๔๔๕) พระยารณไชยชายยุทธฯ ได้อาราธนาท่านพระอุปัชฌาย์ (อ้น) วัดใหม่ไพร่ประชุมพล (หรือวัดไทยชุมพล ในปัจจุบัน) มาเป็นพระอุปัชฌาย์ไปบรรพชาเป็นสามเณรที่อุโบสถวัดตระพังทอง เมืองสุโขทัยเก่า จากนั้นคนจึงพากันเรียกพระยารณไชยชาญยุทธฯ ว่า “เจ้าคุณเณร” แล้วท่านได้บอกถวายพระราชกุศลไปทูลเกล้าถวายฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ ท่านได้ปลูกกุฏิไว้ที่ข้างอุโบสถในเกาะวัดตระพังทองและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่นั่นเป็นนิจ
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะดำรงพระอิสสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” ได้เสด็จมายังเมืองสุโขทัย มีในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า
“...พอออกจากที่พักเข้าประตูเมืองด้านตะวันออกไปได้หน่อยถึงหมู่บ้านในเมือง (ซึ่งมีอยู่ ๓ หมู่บ้านด้วยกัน) บ้านนั้นตั้งอยู่ใกล้ตระพังทอง เป็นสระน้ำใหญ่อันหนึ่งในเมืองนี้ มีสระหรือตระพังหรือตระพังสามแห่ง คือ ตระพังทองอยู่ด้านตะวันออก ตระพังเงินอยู่ด้านตะวันตก ตระพังสออยู่ด้านเหนือ วัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง ในคำจารึกหลักศิลาพระเจ้ารามคำแหงก็มีกล่าวไว้ว่า “ในเมืองสุโขทัยนี้ มีตระพังโพยสีใสกินดีดังน้ำโขงเมื่อแล้ง” ดังนี้น่าจะกล่าวถึงตระพังเหล่านี้เอง แต่นอกจากตระพังทั้งสามนี้ นอกเมืองก็ยังมีอยู่อีกเป็นหลายแห่ง ซึ่งเห็นได้ว่าในเวลานั้นน้ำบริบูรณ์ และถ้าแม้ได้รักษาการเรื่องน้ำนี้ไว้แต่เดิมมาแล้ว เมืองสุโขทัยจะไม่ต้องทิ้งร้างเลย
ที่ตระพังทองนั้นมีวัดเรียกว่า วัดตระพังทอง มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ กลางตระพังมีเกาะ บนเกาะนั้นมีพระเจดีย์ใหญ่อยู่กลางองค์หนึ่ง มีพระเจดีย์บริวารอีก ๘ องค์ พระเจดีย์ใหญ่ยังพอเป็นรูปร่างอยู่ คือ เป็นรูประฆัง ข้างล่างเป็นแลง ข้างบนเป็นอิฐ พระเจดีย์บริวารนั้น ชำรุดเสียโดยมากแล้ว ดูท่าจะเป็นวัดไม่สู้สำคัญนัก และน่าจะไม่เก่านักด้วย ที่เกาะนี้พระยารณชัยชาญยุทธ (ครุธ) เจ้าเมืองสุโขทัยเก่า ซึ่งได้ออกบรรพชาเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้มาสร้างกุฏิอาศัยอยู่และในเวลาที่ไปดูวัดนั้นก็ได้เห็นโบสถ์ ซึ่งสามเณรรณชัยได้จัดเรี่ยรายและกำลังสร้างขึ้น...”
และใน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๖) สามเณรพระยารณไชยชาญยุทธฯได้อาพาธด้วยโรคชรา และได้มรณภาพลงที่กุฏิวัดตระพังทอง เมืองสุโขทัยเก่า นับอายุท่านได้ ๘๑ ปี
นายใส น้อยถึง ได้เล่าถึงเรื่องราวของวัดตระพังทอง ราว พ.ศ. ๒๔๗๐ สมัยเจ้าอาวาสเปลื้อง ว่า สมัยนั้นสภาพของเมืองเก่าค่อนข้างรกเป็นป่า ผู้คนอาศัยอยู่ราว ๑๓๐ ครัวเรือน พระอาจารย์เปลื้องได้สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ให้อ่านออกเขียนได้ และสอนจริยธรรมให้กับเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ๕ - ๖ ขวบ
ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ครั้งเสด็จออกตรวจการคณะสงฆ์มณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เสด็จถึงวัดตระพังทอง ดังพระราชนิพนธ์ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า
“...วันที่ ๙ ธันวาคม เวลาก่อนเสวยเช้า เสดจเที่ยวทอดพระเนตรภูมิลำเนาในตำบลนั้นเป็นการเงียบ เสด็จถึงวัดตระพังทอง อันตั้งอยู่ริมทางซึ่งเสดจผ่านมาเมื่อวานนี้ ฯ ในร่วมกำแพงเมืองเก่านี้ มีวัดซึ่งมีพระสงฆ์อยู่แต่วัดเดียวเท่านั้น ทราบว่ามีพระสงฆ์อยู่ ๕ รูป เปนที่ทำบุญแห่งชาวบ้านตำบลนี้แท้ๆ เสด็จไปถึงเข้าทรงพบพระรูปหนึ่งชื่อ เบี้ยว ตรัสไต่ถามทรงทราบว่า เธอเป็น พระอธิการแห่งวัดนั้นแต่มีพรรษาเดียว จึงทรงดำหริว่าในตำบลอันมีวัดมีพระสงฆ์แต่วัดเดียว แลเปนที่ทำบุญของราษฎรในตำบลนั้น แต่ไม่มีพระผู้มีพรรษาสมควรจะปกครอง เช่น วัดตระพังทองนี้ เปนตัวอย่าง ควรให้กำนันและราษฎรตำบลนั้นรักษาไว้ เพราะเปนแต่ผู้อาศัยสำหรับทำบุญแห่งชาวบ้าน ข้อนี้เทียบได้ในครั้งพุทธกาล เช่น เชตวันวิหาร ถึงคราวพระสงฆ์อยู่ก็อยู่ไป ถึงคราวพระสงฆ์จาริกไปไหนๆ เสีย พวกทายกเป็นผู้รักษาฯ (เมื่อ) เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ในวัดนั้นตามสมควรแล้ว เสด็จกลับพลับพลา มีพวกราษฎรมาคอยตักบาตรหน้าพลับพลา ทรงรับบิณฑบาตแล้ว เสด็จขึ้นประทับ ณ มุขพลับพลา...”
.jpg)
เมื่อพระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม ยสทินฺโน) เจ้าอาวาสวัดราชธานี ในสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชประสิทธิคุณ พิบูลวิริยาธิกร บุราณเจติยาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓) ท่านเป็นผู้ที่สนใจในโบราณวัตถุสถานที่เมืองสุโขทัยเก่าเป็นอย่างมาก ท่านได้รวบรวมโบราณวัตถุมารักษาไว้ที่วัดตระพังทองและวัดราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้จัดให้มีการขุดลอกตระพังทองให้ลึกขึ้น อีกทั้งท่านยังได้จัดการซ่อมแซม อุดรอยที่ผู้ร้ายมาลอบขุดโบราณสถานตามเจดีย์ต่างๆ ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้มีดำริให้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทจากเขาพระบาทใหญ่สมัยสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดตระพังทอง ในขณะนั้นวัดตระพังทองยังไม่มีสะพานข้าม มีถนนเดินเข้าตรงข้างสะพานด้านเหนือ ต่อมาได้ทำสะพานเข้าเกาะ และท่านได้มีดำริในการจัดงานบุญเดือน ๔ ในวันขึ้น ๖ ค่ำ เป็นงานนมัสการรอยพระพุทธบาทและมีการจัดงานลอยกระทงขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ โบราณสถานและโบราณวัตถุในความควบคุมของคณะสงฆ์ สมัยนั้น พระปลัดบุญธรรม เป็นเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง หากมีการพบการขุดกรุโบราณสถานให้มาแจ้งกับทางวัด พระโบราณวัตถาจารย์จึงมีดำริให้พระสงฆ์ไปจำพรรษาที่วัดโบราณสถานเช่นวัดมหาธาตุ ก็มีการตั้งเขตสังฆาวาสทางพื้นที่ทางด้านใต้ของวัดมหาธาตุมีศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง และมีการสร้างกุฏิพระร่วงขึ้นโดยพระสงฆ์เหล่านั้นก็ได้เข้ามาทำสังฆกรรมในวัดมหาธาตุ มีการนำไม้มาประกอบทำอุโบสถที่ฐานอุโบสถเดิม และปรุงวิหารเพื่อทำสังฆกรรมด้วย โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้พระสงฆ์เป็นหลักในการดูแลโบราณวัตถุสถานนั่นเอง
เมื่อชาวบ้านพบโบราณวัตถุ ได้แก่ ถ้วยชาม พระพุทธรูป พระพิมพ์ ก็จะเอามาถวายท่านเจ้าคุณโบราณ
กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๖ รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พิจารณาเห็นว่าเมืองสุโขทัยเก่าแห่งนี้เป็นเมืองโบราณที่มีประวัติและอดีตอันรุ่งโรจน์ควรแก่การปรับปรุงขุดแต่งและบูรณะโบราณสถาน ให้เห็นสภาพของอารยธรรมสมัยสุโขทัย ให้เป็นที่ศึกษาของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีคณะกรรมการชุดแรก ๒๕ คน ประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ - ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย โดยมีพลโทหลวงสวัสดิ์สรยุทธ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นๆ อีก ๒๐ คน โดยมีมติให้ก่อนดำเนินการโครงการให้มีการประกอบพิธีบวงสรวงอดีตพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงบนเนินปราสาทกลางเมืองสุโขทัยเก่าและอัญเชิญดวงพระวิญญาณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กำหนดฤกษ์วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กระทำพิธีบวงสรวงและอัญเชิญดวงพระวิญญาณณเข้าผอบแล้วแห่เป็นขบวนจากเนินปราสาทไปประดิษฐานไว้ที่ศาลพระแม่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ส่วนการปฏิบัติงานนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายสำรวจโบราณสถานภายนอกและภายในกำแพงเมือง ทำแผนที่แสดงที่ตั้งโบราณสถาน และอาคารบ้านเรือนของราษฎร บูรณะถนนหนทางภายในและภายนอกกำแพงเมืองให้ติดต่อกับโบราณสถานต่างๆ โดยให้เข้าชมได้โดยสะดวก
การขุดแต่งโบราณสถานได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยเริ่มขึ้นที่วัดมหาธาตุตรงองค์พระมหาธาตุ และต่อมาได้ริเริ่มที่เนินปราสาท หลักเมือง วัดศรีสวาย วัดสระศรี ส่วนการบูรณะนั้นเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เริ่มบูรณะวัดศรีชุมแห่งแรก การขุดแต่งบูรณะในความควบคุมของนายกฤษณ์ อินทรโกศัย ผู้ช่วยอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ งานแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ในระยะแรก ในขณะนั้นโบราณสถานแต่ละแห่งปกคลุมไปด้วยต้นไม้ เบญจพรรณต่างๆ โดยเฉพาะไผ่ป่าปกคลุม และมีวัชพืชเกิดและตายกลายเป็นดินปกคลุมหนาแต่ ๓๐ - ๑๐๐ เซนติเมตรโดยทั่วไป มีทางเดินแคบๆ และทางเกวียน บางแห่งเข้าถึงโบราณสถานได้โดยยาก ประชาชนที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมภายในกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑๕๐ หลังคมเรือนหรือประมาณ ๖๕๐ คน อาชีพส่วนใหญ่คือ ทำนา โดยมีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๒ สายสุโขทัย-ตาก (ถนนจรดวิถีถ่อง) ตัดผ่านกลางเมืองด้านทิศตะวันออกไปทางด้านทิศตะวันตก มีวัดที่พระสงฆ์จำพรรษา คือ วัดตระพังทอง มีร้านค้าของคนจีนมาค้าขายกาแฟและของเบ็ดเตล็ดอยู่ ๒ แห่ง (ตลาดชุมชนวัดตระพังทอง) ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตคือสำเนียงการพูดของคนท้องถิ่นสุโขทัย ในทัศนะของข้าราชการต่างถิ่นระบุว่า “ชาวบ้านส่วนมากพูดภาษาไทยสำเนียงเพี้ยน เช่น เสื่อ เป็นเสือ ถ้าเสือซึ่งเป็นสัตว์ก็เรียกเสื่อ ผู้ชายเรียกผู้ซาย เป็นต้น สำเนียงพูดส่วนใหญ่เหมือนคนภาคกลาง”
และในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นี้เอง นายตรี อมาตยกุล เล่าไว้ในหนังสือ “นำเที่ยวเมืองสุโขทัย” เขียนถึงวัดตระพังทองว่า
“...เมื่อผ่านกำแพงเมืองเข้าไปสักหน่อย ทานจะแลเห็นสระใหญ่ อยู่ริมถนนทางซ้ายมือ สระนี้เรียกกันว่า “ตระพังทอง” น้ำในสระสะอาดและจืดสนิทราษฎรในเมืองสุโขทัยเก่า ได้อาศัยใช้น้ำในสระนี้สำหรับบริโภค ได้ตลอดทั้งปี ในบริเวณวัดตระพังทองเป็นที่ตั้งของวัดโบราณวัดหนึ่ง ซึ่งเรียกตามนามของตระพังว่า “วัดตระพังทอง” วัดนี้เป็นวัดเดียวในเมืองสุโขทัยที่ยังไม่ร้าง คือในปัจจุบันยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ แต่สิ่งสำคัญภายในวัดได้ปรักหักพังลงไปมากแล้ว ยังมีของฝีมือช่างสมัยสุโขทัยเหลืออยู่ สองสามชิ้นเท่านั้น...... วัดนี้ยังมีพระอุโบสถ ๒ หลัง พระอุโบสถเก่าอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่กุฏิสงฆ์ มีพระประธานรูปปั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ได้ซ่อมกันเสียหลายครั้งหลายคราว แต่ยังพอสังเกตรูปทรงได้ว่าของเดิมเป็นฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ส่วนพระอุโบสถใหม่นั้นอยู่ทางทิศตะวันตกพระอุโบสถ
.jpg)
.jpg)
หลังนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐ ปีมานี้เอง คือพระยารณชัย ชาญยุทธ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัย เมื่อครั้งออกบวชเป็นสามเณรและจำพรรษาอยู่วัดนี้ โดยเรี่ยรายเงินจากราษฎรสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๐...”
นายมะลิ โคกสันเที๊ยะ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๓ เล่าในหนังสือ “ นำชมโบราณวัตถุสถาน ในจังหวัดสุโขทัย” (พ.ศ. ๒๕๑๒) ว่า
“......วัดนี้ถึงแม้ว่าจะไม่มีโบราณสถานอะไรน่าดูนัก นอกจากเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาองค์ขนาดย่อม ตั้งอยู่กลางสระน้ำสี่เหลี่ยมที่มีน้ำขังเต็มเปี่ยม ดังเช่น วัดตระพังเงิน สิ่งที่ท่านจะผ่านไปเสียมิได้ก็คือ รอยพระพุทธบาท อยู่ในมณฑปที่อยู่กับเจดีย์กลางเกาะ รอยพระพุทธบาทนี้เป็นศิลาสีเทาปนดำ ซึ่งพระเจ้าลิไทโปรดให้สร้างประดิษฐานไว้บนสุวรรณกุฎ หรือเขาพระบาทใหญ่ เมื่อ ปี พ.ศ. ๑๙๐๓ ภายหลัง...”
.jpg)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชประสิทธิคุณ ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ ได้นำรอยพระพุทธบาท ใส่เกวียนนำไปไว้ที่วัดตระพังทองกลางเกาะ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาผู้หนึ่งชื่อแม่ล้วนหรือคุณนายล้วน ได้ทำการบูรณะ ก่อเสริม ทำโครงหลังคาใหม่เพราะแต่เดิมโบสถ์หลังนี้หลังคามุงแฝกไม่ถาวร ชำรุดแหว่งโหว่ไม่สะดวกในการใช้สอย เมื่อมีงานบวชหรือทำสังฆกรรมอื่นใด เจ้าของงานต้องทำหลังคาชั่วคราวเอาเองโดยใช้ใบมะพร้าว แฝก และวัสดุอื่น ๆ มุง พอคุ้มแดดกันฝนไปคราวๆ หนึ่ง เมื่อพระราชประสิทธิคุณ ได้เข้ามาดูแลบำรุงวัดนี้
แม่ล้วนซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสในพระราชสิทธิคุณจึงได้เข้ามาช่วยเหลือในการฟื้นฟูวัด โดยการซ่อมแซมก่อเสริมผนังโบสถ์ เพื่อทำหลังคาถาวร มุงกระเบื้อง และก่อเสริมมุมหน้า ให้ดูสง่างามโอ่โถงขึ้น เนื้องานที่แม่ล้วนได้ทำเพิ่มเติม ยังคงมีร่องรอยให้เห็นคืองานก่อผนัง เสริมจากของเดิมสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๑.๐๐ เมตร เพราะหลังคาจั่วต้องมีใบดั้งสูง จึงจะมีความสง่างามและภายในโปร่งไม่ทึบ รวมทั้งงานก่อเสริมเสามุขหน้า ๒ คู่ สี่ต้นสูงขึ้นอีกต้นละ ๑.๐๐ เมตร
วัดตระพังทอง ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะตามแผนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ โดยทำการบูรณะเจดีย์ทรงระฆัง มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและสร้างศาลารายแทนศาลาใหญ่ที่ชำรุด
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๙๘ ศึกษาธิการอำเภอเมืองสุโขทัยได้จดทะเบียนแจ้งการครอบครองที่ดินวัดตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ไว้ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.๑) เลขที่ ๗๒๘ จำนวนเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ดังนี้
ทิศเหนือ จรด ถนนจรดวิถีถ่อง ยาว ๕ เส้น ๑๐ วา
ทิศใต้ จรด ป่า ยาว ๕ เส้น ๑๐ วา
ทิศตะวันออก จรด หมู่บ้านราษฎร ยาว ๘ เส้น
ทิศตะวันตก จรด ที่ดินโรงเรียนบ้านเมืองเก่า ยาว ๘ เส้น ตอม่อสะพานเก่า.....ที่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ เกาะกลางน้ำวัดตระพังทอง

ทอดยาวไปทางด้านพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง ปี่ พ.ศ. ๒๕๒๔

สถานที่น่าสนใจในวัดตระพังทอง

๑. เขตพุทธาวาส : อุทกเสมา
(๑.๑) อุโบสถ
เป็นอุโบสถที่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนแบบสมัยโบราณ เครื่องบนทำด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ จาก “สังคโลก” โดยทำเป็นรูปมกรสังคโลก หน้าบันทำด้วยไม้เป็นแบบลูกฟักทั้งสองด้าน ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ มีประตูทำด้วยไม้สองประตูด้านทิศตะวันตก หน้าต่างทำด้วยไม้สี่หน้าต่าง ผนังฉาบปูนตำแบบสมัยโบราณ ใบเสมาสองชั้น ทำด้วยหินชนวน ตัวอาคาร กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๕ เมตร รอบตัวอาคารทำเป็นกำแพงแก้วปูนปั้น มีประตูทางเข้า ๕ ด้าน คือ ทิศตะวันตกหนึ่งด้าน(ด้านหน้า) ทิศเหนือสองด้าน (ข้าง) ทิศใต้สองด้าน(ข้าง)
ตามประวัติได้สร้างมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้ทำการบูรณะ โดยพระยารณชัยชาญยุทธ (ครุท หงสนันทน์) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นอุโบสถที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ และด้านหน้าตัวอาคารทางทิศตะวันตก จัดว่าเป็นพระอุโบสถหลังเดียวที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งคงเป็นการหันหน้าเข้าสู่พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ ที่เป็นประธานอยู่กลางเมืองนั่นเอง
ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๙ นิ้ว สูงจากฐานองค์พระถึงพระขนง ๗๒ นิ้ว ฐานชุกชีทำเป็นสามชั้น ชั้นแรกทำเป็นฐานกลีบบัว ส่วนสองชั้นล่างทำเป็นแบบเรียบง่าย ฐานบน กว้าง ๗๙ นิ้ว ยาว ๑๐๑ นิ้ว ฐานล่าง กว้าง ๑๐๖ นิ้ว ยาว ๑๕๙ นิ้ว ตามประวัติได้ทำการบูรณะใหม่บางส่วน ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ครั้งบูรณะอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วขัดปูนตำสีขาว ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อขาว”
(๑.๒) พระเจดีย์
เป็นเจดีย์ ทรงลังกาหรือทรงระฆัง ศิลปะสมัยสุโขทัย ตามประวัติสร้างมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย องค์พระเจดีย์สร้างด้วยหินศิลาแลง ขนาด ฐานกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๒๔ เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ บนเกาะกลางสระน้ำ ยอดเก่าของเจดีย์จัดแสดงไว้ที่ด้านใต้ของเจดีย์แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างเจดีย์สมัยโบราณจะนำเหล็กกล้ามาทำเป็นแกนกลางของส่วนยอดเจดีย์เพื่อทำให้โครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ คราวที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์และ พ.ศ. ๒๔๕๐ คราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖) เสด็จมาเมืองสุโขทัยนั้นพบว่ามีซากของเจดีย์รายปรากฏอยู่และมีสภาพชำรุด ซึ่งในปัจจุบันไม่พบร่องรอยของเจดีย์รายนั้นแล้ว


(๑.๓) มณฑปพระพุทธบาท

เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย จำหลักเป็นเป็นลายมงคล ๑๐๘ สลักบนศิลา ขนาด กว้าง ๑.๒๕ เมตร ยาว ๒.๐๙ เมตร หนา ๒๒ ซ.ม. เป็นรอยพระบาทเบื้องขวา ที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในรอยพระบาทจำหลักเป็นลายชาดกต่าง ๆ ตามประวัติ พระมหาธรรมราชาลิไททรงให้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๒ แล้วได้นำมาประดิษฐานไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศหรดี( ตะวันตกเฉียงใต้ )
ของตัวเมืองเก่า
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ พระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม ยสทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานีและอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย มีดำริให้อัญเชิญรอยพระพุทธบาท จากยอดเขาพระบาทใหญ่ หรือเขาสุมนกูฏ ที่พระญามหาธรรมราชาธิราช (พระญาฦๅไทย) ได้ประดิษฐานไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๐๒ มาประดิษฐานไว้ที่เกาะกลางสระน้ำ โดยสร้างเป็นอาคารมณฑปยกฐานสูง ๒ เมตร ยอดเป็นลักษณะแบบเจดีย์ดอกบัวตูมครอบไว้ แล้วได้จัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาท หรืองานบุญเดือน ๔ เป็นต้นมาทุกปี คือ วัน ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ จนปัจจุบันนี้
(๑.๔) ศาลาหลวงพ่อขาว (จำลอง)
ศาลาหลวงพ่อขาว (จำลอง) เป็นศาลาทรงไทยโถง แต่เดิมโครงสร้างอาคารเป็นไม้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ ทางวัดตระพังทองได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกลุ่ม YEC สุโขทัย จำนวน ๑๗๕,๐๐๐ บาท จึงได้จัดให้มีการบูรณะศาลาหลวงพ่อขาว (จำลอง) เพื่อให้มีความสวยงามและปลอดภัยในการใช้งานดำเนินกิจกรรมของทางวัดและชุมชน มีลักษณะเป็นศาลาทรงไทยแฝดคู่อยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอุทกเสมา และบริเวณด้านตะวันออกของศาลาทางวัดตระพังทองได้จัดสร้างท่าน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาให้อาหารปลา เป็นเขตอภัยทาน
๒. กุฏิพระร่วง
ในสมัยที่พระโบราณวัตถาจารย์ (อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย) ได้มีดำริให้พระสงฆ์ไปปลูกกุฏิ วิหาร ศาลาในวัดร้างเดิมเพื่อให้พระสงฆ์ทำหน้าที่ดูแลรักษาโบราณวัตถุสถาน ท่านจึงให้มีพระสงฆ์ไปปลูกสร้างสังฆาวาสกำกับวัดร้างเดิม ได้แก่ วัดมหาธาตุ, วัดตระพังทองหลาง, วัดพระพายหลวง, วัดศรีชุม, และวัดเชตุพน ในส่วนของ วัดมหาธาตุนั้นมีการสร้างเขตสังฆาวาสบริเวณด้านใต้ของวัดมหาธาตุ (บริเวณป่ามะขาม) ประกอบด้วยศาลาการเปรียญ กุฏิ หนึ่งในนั้นก็คือมีการก่อสร้าง “กุฏิพระร่วง” ตามตำนานที่เชื่อว่าพระร่วงที่บวชอยู่วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย กำลังกวาดลานวัดอยู่ ขอมได้ดำดินมาตามหาพระร่วง แต่ไม่ทราบว่าพระร่วงมีรูปลักษณ์อย่างไร จึงเจรจากับพระร่วงและกลายสภาพเป็นหินในครึ่งท่อนบน จึงเป็นตำนานเรื่องหนึ่งที่เชื่อว่าพระร่วงมีบุญบารมี มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ กุฏิพระร่วงเดิมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใกล้สะพานทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุในปัจจุบัน
ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ประตูหน้าทางเข้าเกาะด้านทิศตะวันออกของเกาะวัดตระพังทอง อันเป็นที่สักการะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านเมืองเก่า คือ องค์พระร่วงเจ้า และขอมดำดิน องค์พระร่วงเจ้านั้นมีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางลีลา ทำด้วยปูนปั้นขนาดความสูง ๗ ฟุต ส่วนขอมดำดินนั้น ขนาดความสูง ๖๕ เซนติเมตร ทำด้วยปูนปั้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ภายในกุฏิพระร่วงยังประดิษฐานรูปพระแม่ย่า และรูปพระร่วงในอิริยาบถกำลังกวาดลานวัดตามตำนานอีกด้วย
๓. ศาลาพิบูลวราศรัย
ศาลาพิบูลวราศรัย แรกสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว โดยได้รับงบประมาณจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม (อดีตนายกรัฐมนตรี) ในการสนับสนุนการก่อสร้างโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศาลาการเปรียญ และจัดว่าเป็นศาลาการเปรียญก่ออิฐถือปูนที่สวยงามแห่งแรกในสมัยนั้นจนเป็นที่ลือกันว่างามตามสมัยนัก
ต่อมาราว พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗ เมื่อกรมศิลปากรได้เข้ามาจัดการระเบียบพื้นที่โบราณสถาน ในสมัยที่นายนิคม มูสิกคามะ เป็นหัวหน้าโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ในขณะนั้น) ได้มีแนวคิดให้รื้อย้ายวัดที่อยู่คู่กับโบราณสถานออกมารวมสร้างไว้ที่วัดตระพังทอง จึงได้ผาติกรรมศาลาการเปรียญ กุฎิไม้ มาไว้ที่วัดตระพังทองและสร้างประกอบเสริมกับศาลาพิบูลวราศรัยเดิมที่อยู่ทางด้านเหนือเป็นเครื่องปูน โดยได้นำเครื่องไม้มาสร้างเสริมต่อออกมาทางด้านใต้ เรียกรวมหมู่ศาลานี้ว่า “ศาลาการเปรียญ วัดตระพังทอง”
ศาลาการเปรียญวัดตระพังทอง เสมือนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชนเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็น งานนมัสการรอยพระพุทธบาท บุญเดือน ๔ บวชนาคสามัคคี, งานทำบุญใน

วันธรรมสวนะ และรววมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน นักเรียนนักศึกษา อีกด้วย

๔. ตลาดชุมชนวัดตระพังทอง
ตลาดวัดตระพังทองได้มีขึ้นราวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยพระราชประสิทธิคุณ (หรือพระโบราณวัตถาจาร์ (ทิม ยาทินฺโน) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้รื้อตลาดส่วนหนึ่ง อันเป็นอาคารไม้มาจากวัดราชธานี ซึ่งมีดำริว่า.... ผลประโยชน์จากการจัดเก็บค่าเช่าตลาด จะได้นำมาเป็นค่าภัตตาหารเพลถวายแด่พระสงฆ์สามเณรที่วัดตระพังทอง โดยได้รับการสนับสนุนทุนสำรองในการก่อสร้างจากคหบดีในบ้านเมืองเก่าชื่อ นายตาล นางโห้ดวงคำ ได้ใช้ทุนในการก่อสร้างตลาดประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท (เทียบราคาทองคำในสมัยนั้นทองคำหนัก ๑ บาทคิดเป็นเงิน ๓๕๐ บาท ) โดยขนย้ายอาคารตลาดมาทางเกวียนได้จ้างช่างชื่อว่า นายตี๋ ป้อมวงศ์ และได้จัดเก็บค่าเช่าจากแม่ค้า ในอัตราโต๊ะละ ๑ บาทต่อวัน ซึ่งมีแม่ค้าประมาณ ๒๐ ราย โดยหักรายได้ส่วนหนึ่งคืนทุนสำรองจ่าย แต่ด้วยความไม่สบายใจ. นายตาลและนางโห้ ดวงคำ จึงงดการจัดเก็บคืนทุนสำรองแล้วมอบถวายให้กับวัดตระพังทองตั้งแต่นั้นมา ในปีพ.ศ. 2504 ได้เกิดเพลิงไหม้แล้วได้มีการซ่อมแซมใช้ประโยชน์โดยการบริหารจัดการของทางวัด
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ ทางวัดได้รับงบสนับสนุนจากโครงการก่อสร้างลานคอนกรีต (โครงการงบประมาณมิยาซาว่า) จำนวน ๑๗๙,๒๘๔ บาท จึงทำให้เกิดการขยายตัวของตลาดมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ทางวัดจึงได้ให้ทางเทศบาลตำบลเมืองเก่า. โดยนายสมุทร สายสิญจน์นายกฯเทศมนตรี ในขณะนั้นเข้ามาบริหารจัดการ ทำสัญญาเช่ากับทางวัด ( สัญญาเช่าราย ๒ ปีในอัตราค่าเช่า ๒๐๐,๐๐๐บาทต่อเดือน) เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลา ๔ ปี
หลังจากสิ้นสุดสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ เทศบาลตำบลเมืองเก่าไม่ได้ดำเนินการ

ต่อสัญญาเช่า จึงเป็นผลให้ทางวัดต้องเข้ามาบริหารจัดการ ในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยการคัดเลือกกันเองของผู้ค้าในตลาด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ภายในตลาด ต่อเดือนประมาณเดือนละ

๕๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการตลาดมีมติจัดสรรผลประโยชน์ให้กับทางวัดเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือได้จัดเก็บในรูปแบบของกองทุน พัฒนาตลาด เพื่อใช้ในการบริหารจัดการในอนาคต
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ทางวัดได้ดำเนินการปรับปรุงตลาด โดยได้มีการออกแบบโครงสร้างของอาคารตลาด ตามแบบที่ได้ขออนุญาตจากอุทยาน ประวัติศาสตร์เมืองเก่าสุโขทัย และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารตลาด ๒ หลังแรก ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างส่วนหนึ่ง จากค่าธรรมเนียมแรกเข้าล็อกละ ๕,๐๐๐ บาท และเครดิตอุปกรณ์ก่อสร้างจากร้านแสงอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมทั้งได้รับเงินสำรองค่าใช้จ่ายต่างๆ จาก นางสาวสุภัคสิริ อยู่สำราญ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงสร้างแล้วเสร็จจำนวน ๒ หลัง และทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง เพื่อชำระหนี้สิน กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ทางวัดได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามา จำนวน ๙ คน เพื่อช่วยในการ จัดหาแหล่งทุน ดำเนินการก่อสร้างตลาด โดย กู้เงินจากธนาคารออมสินจำนวน ๑ ล้านบาท คณะกรรมการ ประกอบด้วย (๑)นายคณิต ดวงคำ (๒) นายสุวรรณ วัชระถาวรศักดิ์ (๓) นายบวบ คุณอินทร์ (๔) นายจำรัส แม้นเหมือน (๕) นายประสม ชาญชัยกิตติกร (๖) นายคนิลร์ งามวิชานน์ (๗) นายวินัย วันจันทร์ (๘) นายณรงค์ เฉื่อยฉ่ำ และ(๙) นายปฏิรูป สายสินธุ์ ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารตลาด ช่วงแรกพร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าตลาด หมดงบประมาณงวดแรกจึงได้ยื่นขอกู้เงินธนาคารออมสินใหม่อีก ๑ ล้านบาท โดยนายปฏิรูป สายสินธุ์ ได้ลาออกจากคณะกรรมการและแต่งตั้งให้นายวันชัย ทุยจันทร์ เข้ามาแทน จึงสร้างแล้วเสร็จ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้เริ่มโครงการปรับปรุงอาคารตลาดหลังใหญ่ซึ่งเป็นหลังเดิม ของตลาดวัดตระพังทอง โดยได้กู้เงินจากธนาคารออมสินมาเพิ่มเติมอีก ๑ ล้านบาท มีนายไฉน เกุดสอน เข้ามาเป็นคณะกรรมการแทนนายคนิสร์ งามวิชานน์ ซึ่งได้เสียชีวิตลง
๕. ซุ้มประตูสังคโลก
ซุ้มประตูศิลปะสุโขทัย องค์ปฐมมหาราช เป็นโครงการที่ทางชุมชนเมืองเก่า และคณะกรรมการวัดตระพังทองมีแนวคิดที่จะจัดสร้างซุ้มประตูวัดตระพังทองให้สวยงามและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ข้อคือ มีความเป็นศิลปะแบสุโขทัย, ทำโดยคนท้องถิ่น และมีลวดลายมีเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทางคณะกรรมการวัดฯ ได้นำข้อมูลปรึกษากับนางบังเอิญ ทุยจันทร์ ปราชญ์ท้องถิ่นชุมชนเมืองเก่า และได้นำเรื่องปรึกษากับอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) ประจำปี ๒๕๔๖ กับอาจารย์บัญชา ชุ่มเกสร ได้ร่างแบบซุ้มประตูถวายวัด
วัดตระพังทองดื้ดำเนินการนำเสนอต่อสำนักศิลปากรที่ ๖ กรมศิลปากร ให้ตรวจสอบแบบ ครั้งแรกไม่ผ่านเพราะทรวดทรงความสูงเกินมาตรฐานที่กรมศิลปากรกำหนดไว้ ต่อมาได้มีการปรับแก้แบบให้มีขนาดที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น กรมศิลปากรจึงอนุมัติแบบก่อสร้างซุ้มประตู จากนั้นทางวัดตระพังทองได้ดำเนินการบอกบุญแก่ผู้มีจิตศรัทธา มีการเริ่มก่อสร้างโครงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ส่วนงานศิลปกรรมสังคโลกประดับซุ้มประตูเป็นงานที่ทางกะเณชาสังคโลกเป็นผู้ดำเนินการ กระทั่งประดิษฐานพระพุทธลีลาที่ซุ้มประตูเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙ จึงถือว่าซุ้มประตูศิลปะสุโขทัย องค์ปฐมมหาราชสำเร็จบริบูรณ์ดังหมาย มีลักษณะที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของวัดตระพังทองและชุมชนเมืองเก่าอย่างยิ่ง
๖. ศาลากสิกร พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดตระพังทอง เป็นแหล่งรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวนาไทย และด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ มีการขุดลอกตระพังและเปลี่ยนเสาสะพานไม้ใหม่เป็นเสาปูน จึงนำเสาไม้มาเรียงไว้ พระมหาดำรงค์ สนฺตจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง จึงมีดำริร่วมกับคณะกรรมการวัดตระพังทองจัดตั้งอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ให้ชื่อว่า “ศาลากสิกร” ที่มาจากการประกอบอาชีพ “กสิกรรม” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยมีความมุ่งหวังในการเป็นพื้นที่รวบรวมเครื่องของใช้ เสาสะพานไม้เก่า เครื่องบนของอุโบสถ สีข้าว ครกกระเดื่อง กี่ทอผ้าจากสวนอาหารน้ำค้าง เป็นต้น
๗. โรงเรียนอนุบาลการกุศลวัดตระพังทอง
โรงเรียนอนุบาลการกุศลวัดตระพังทอง เป็นโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนาสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๔/ ๒ ม.๓ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ภายในวัดตระพังทองผู้ก่อตั้งคือ พระครูวิมลธรรมโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง ได้รับอนุญาตจัดตั้งเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ บนเนื้อที่ ๔ ไร่เศษ ปัจจุบันผู้รับใบอนุญาตคือ พระมหาดำรงค์ สนฺตจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง ครูใหญ่คือ นายถี กลิ่นเกตุ อาคารสร้างด้วยไม้ชั้นเดียว เดิมเป็นศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึงปี ๒๕๔๔ จึงได้รับอนุญาตเป็นโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนาดังกล่าว เปิดทำการสอนในระดับก่อนประถมศึกษาชั้นอนุบาล ๑ – ๓ ( อายุ ๓- ๕ ปี ) ปัจจุบันมีความจุนักเรียน ๑๖๐ คน มี ๔ ห้องเรียน ห้องอนุบาล ๑ จำนวน ๒ ห้อง อนุบาล ๒ จำนวน ๑ ห้อง อนุบาล ๓ จำนวน ๑ ห้อง ห้องบริหารงานในรูปแบบนิติบุคคลประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการบริหารโรงเรียนโดยมีพระมหาดำรงค์ สนฺตจิตฺโต เป็นผู้บริหาร
เทศกาลงานบุญวัดตระพังทอง
งานไหว้นบบูชาพระพุทธบาท เพ็ญเดือน ๔ บวชนาคสามัคคี
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ตั้งแต่พระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม) ให้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทจากเขาพระบาทใหญ่ลงมาประดิษฐานที่วัดตระพังทองแล้ว ได้จัดสร้างมณฑปเป็นยอดดอกบัวตูมสำหรับเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และเจ้าพระคุณได้มีดำริให้จัดงานบุญประเพณีเดือนสี่ จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๓ - ๑๕ ค่ำ ต่อมาราว พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีการจัดบวชนาคสามัคคี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ถือเป็นงานอุปสมบทนาคหมู่ที่มีสีสันและบรรยากาศของท้องถิ่นทั้งการจัดโรงทานอาหารท้องถิ่นหลากหลายของแต่ละครัวเรือน อีกทั้งยังมีการร่วมออกโรงทานจากร้านอาหารขึ้นชื่อ ผู้ประกอบการธุรกิจอีกด้วย เมื่อถึงเวลาบวชพระแต่ละเจ้าภาพจะจัดมหรสพมาอย่างเต็มที่ เวียนรอบอุโบสถ พระเจดีย์ พระพุทธบาท ถือเป็นมงคลอย่างยิ่งของพิธีบรรพชาอุปสมบทในอุทกเสมาที่มีแห่งเดียวในจังหวัดสุโขทัยควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดความดีงามเหล่านี้สืบไป
งานลอยกระทง บุญเดือน ๑๒
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม ยสทินฺโน) เจ้าอาวาสวัดราชธานนีในขณะนั้นได้มีดำริให้จัดงานบุญเดือน ๑๒ งานลอยกระทงวัดตระพังทอง ซึ่งเป็นงานบุญวัดสุดท้ายของงานกรานกฐิน มีมหรสพอย่างตระการตา การละเล่นต่างๆมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในเมืองเก่าสุโขทัย นายใส น้อยถึง ได้เล่าถึงบรรยายกาศในครั้งนั้นว่า มีการกวนข้าวทิพย์ มีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชิงถ้วยระหว่างเด็กนักเรียนต่างๆ แข่งกันที่สนามกีฬาโรงเรียนเมืองเก่า มีการแข่งกัน ๘ โรงเรียน ปีนั้นโรงเรียนเมืองเก่าได้รางวัลชนะเลิศ และวัดตระพังทองก็ได้จัดงานลอยกระทง บุญเดือน ๑๒ ต่อมา กระทั่งยกเลิกการจัดงานลอยกระทงภายในวัดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒
และในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในขณะนั้น ตรงกับรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๓) ได้จัด “เทศกาลลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ” บริเวณเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นใน ซึ่งนายนิคม มูสิกะคามะ ได้เสนอให้จังหวัดสุโขทัยจัดงานพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีขึ้นเพื่อแนะนำจังหวัดสุโขทัยให้เป็นงานใหญ่ระดับชาติ โดยใช้ชื่อตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง ว่า “งานเผาเทียนเล่นไฟ” โดยงานนี้ได้รับการจัดระหว่างกรมศิลปากรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการเปิดงานครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ และทรงลอยกระทงเป็นปฐมฤกษ์ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ในพระสุพรรณบัฏ ว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี และพระองค์ทรงมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างอเนกอนันต์ต่อประเทศอย่างหาที่สุดมิได้
กิจกรรมตักบาตรรับอรุณสะพานบุญ วัดตระพังทอง
กิจกรรมตักบาตรรับอรุณสะพานบุญ วัดตระพังทอง เป็นกิจกรรมที่วัดตระพังทางร่วมกับจังหวัดสุโขทัยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว โดยมีพระสงฆ์รับบิณฑบาตที่สะพานของเขตพุทธาวาสทั้งสองทางให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมทำบุญใส่บาตรยามเช้า บริเวณสะพานบุญ ในช่วงเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ - ๐๖.๓๐ น. ของทุกวัน
พิธีมงคลเจริญพระพุทธมนต์เถลิงศกใหม่
พิธีมงคลเจริญพระพุทธมนต์เถลิงศกใหม่หรือกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น ริเริ่มด้วยดำริของพระมหาดำรงค์ สนฺตจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดตระพังทองรูปปัจจุบัน เมื่อ วันสิ้นปี คือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ - ขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นครั้งแรก และได้ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์มากขึ้นในปีถัดมา มูลเหตุที่มีการจัดพิธีนี้คือ ต้องการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้มาร่วมบุญในวันมงคลของปีศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่โดยการน้อมนำวิถีแห่งพระพุทธศาสนามาประยุกต์กับวัฒนธรรมสากล ในปีแรกนั้นก็มีการวางแผนการจัดกิจกรรม มีการประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ สื่อรถกระจายเสียง ป้ายประชาสัมพันธ์
กิจกรรมในวันที่ ๓๑ ธันวาคม มีการจัดโรงทาน อาหารว่าง น้ำดื่ม บริการแก่ผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมในช่วงเย็น โดยเริ่มจากเวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นการสวดมนต์ทำวัตรเย็นแปล เวลา ๒๐.๐๐ น. รับฟังการสาธยายธรรม และช่วงเวลา ๒๑.๐๐ - ๒๔.๐๐ น. เป็นช่วงที่มีการเจริญพระพุทธมนต์เป็นมงคลแก่ชีวิตช่วงคืนข้ามปี
กิจกรรมวันที่ ๑ มกราคม ในเวลาเช้าจะมีการจัดกิจกรรมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช รับศกใหม่ ที่จัดโดยส่วนราชการและชุมชนเมืองเก่า ส่วนกิจกรรมของวัดดำริให้จัดเป็นจัดจัดสลากภัตข้าวหลาม จัดเป็นสำรับสลากตามประเพณีที่มีมาโบราณที่จะมีการจัดสลากภัตข้าวหลามในช่วงฤดูหนาว ทางวัดจึงให้มีการจัดถวายสลากภัตข้าวหลามในเวลาเพล ๑๑.๐๐ น. แม้งานบุญนี้จะเป็นงานใหม่ธรรมเนียมใหม่ แต่ก็เป็นช่วงที่ช่วยสร้างความสุขทางใจแก่ครอบครัว ชุมชน และบ้านเมืองในช่วงของเทศกาลปีใหม่นี้
ประวัติศาสตร์และตำนาน

อุทกเสมา : พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางน้ำ
บริเวณของเมือง(สุโขทัย)เก่าแห่งนี้ เคยเป็นราชธานีศูนย์กลางแห่งนครรัฐที่รุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ มีชื่อปรากฏว่า “สุโขทัย” อันหมายถึง เมืองที่อุดมไปด้วยความสุข ความเกษมเปรมปรีดิ์ คู่กับเมือง “ศรีสัชนาลัย” หมายถึง เมืองที่อยู่ของคนดี สองเมืองนี้จึงเป็นนครสองอัน ที่ครองคู่กับมาให้ไพร่บ้านพลเมืองอยู่อย่างดีและมีสุขเสมอมา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง จนก่อเกิดศิลปวัฒนธรรมที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมืองนี้มีความรุ่งเรืองมากทางด้านพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางพระพุทธศาสนาถึง ๔ นิกายย่อยของนิกายพระพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ คือ นิกายทวารวดี นิกายนครศรีธรรมราช นิกายรามัญ และนิกายสีหล ผสมผสานกับระบบแนวคิดการจัดการน้ำที่มีคุณค่าอเนกอนันต์ก่อเกิดเป็น “อุทกุกเขปสีมา” (อุ-ทะ-กุก-เข-ปะ-สี-มา) หรือ “อุทกเสมา” (อุ-ทะ-กะ-สี-มา) ซึ่งหมายถึง สีมา (สี-มา หรือเส-มา แปลว่า ขอบเขตดินแดนศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของพระสงฆ์ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม) ที่กำหนดเขตขึ้นในน้ำ
“อุทกเสมา” หรือ “สีมากลางน้ำ” ปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลซึ่งพระพุทธเจ้าทรงดำริไว้ในพระวินัยการบวชภิกษุสาลกว่า “...สถานที่อันควรแก่การทำพิธีกรรมสังฆกรรมของสงฆ์สถานที่หนึ่งในนั้นคือ แม่น้ำ ที่สามารถกำหนดให้เป็นหลักสีมาได้...” ดังนั้น “อุทกเสมา” จึงหมายถึง “เขตที่ใช้น้ำเป็นแดน” ซึ่งในชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานมูลศาสนาต่างกล่าวว่าพระสงฆ์ในสายลังกาวงศ์จะบวชได้ต้องทำขนานแพที่ผูกติดกับหลักในน้ำหรือทอดเสมอลำน้ำ แต่อยู่ห่างตลิ่งช่วงวักสาดในแม่น้ำเพื่อบวชพระภิกษุสงฆ์หรือทำสังฆกรรมต่างๆ มี ๓ แบบ คือ
(๑) “นทีเสมา” คือ การใช้แม่น้ำเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม
(๒) “มหาสมุทรหรือทะเล” คือ การใช้มหาสมุทรเป็นเขตพิธีกรรม
(๓) “ชาติสระ” คือ บริเวณน้ำที่เกิดจากธรรมชาติหรือขุดขึ้นแล้วผูกแพยึดไว้กลางน้ำ
ซึ่งเป็นรูปแบบของอุทกเสมาในเมืองสุโขทัย เรียกว่า “ตระพัง” ซึ่งมีการสร้างวัดและขุดอุทกเสมาขนาดใหญ่ ๔ ตระพัง คือ ตระพังทอง วัดตระพังทอง ด้านทิศตะวันออก, ตระพังเงิน วัดตระพังเงิน ด้านทิศตะวันตก, ตระพังสระศรีและตระพังตระกวน วัดสระศรี ด้านทิศเหนือ และตระพังสอ วัดสรศักดิ์ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางของเมือง “ชาติสระ” หรือ “ตระพัง” ทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นทั้งอุทกเสมาอุโบสถและยังเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคภายในเมืองและเป็นแหล่งซับน้ำให้กับบ่อน้ำอีกทีหนึ่งก่อนน้ำมาใช้ ทำให้ภูมิทัศน์ของเมืองสุโขทัยเป็นเมืองน้ำ ที่ชาญฉลาดด้านระบบชลประทานจนเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้เมืองโบราณแห่งนี้ เป็น “เมืองมรดกโลก” ใน พ.ศ. ๒๕๓๔
รอยพระพุทธบาทลักษณ เขาสุมนกูฏ
วัดตระพังทอง
“รอยพระพุทธบาท” เป็นสื่อกลางทางความเชื่อทางสังคมไทยสมัยสุโขทัยราว พ.ศ. ๑๙๐๐ สมัยพระญาศรีสูริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช หรือ พระญาฦาไทย พระมหากษัตริย์แห่งนครรัฐสุโขทัยศรีสัชนาลัย พระองค์ได้ใช้นโยบายทางศาสนาเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและสร้างสรรค์วัฒนธรรมสุโขทัยให้เป็นปึกแผ่น นับตั้งแต่ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิกถา” ที่เมืองศรีสัชนาลัย ใน พ.ศ. ๑๘๘๘ กระทั่งพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองสุโขทัยใน พ.ศ. ๑๘๙๐ พระองค์ไม่เพียงแต่ใช้นโยบายทางพระพุทธศาสนาแต่พระองค์ยังเปิดกว้างให้ศาสนาอื่นๆ ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายทางการปกครองโดยสถาปนาเป็น “ธรรมราชา” หมายถึง พระราชาผู้นำธรรมมาประกอบในการบริหารราชการแผ่นดิน
ความเป็นธรรมราชาซึ่งเนื่องกับพระพุทธศาสนาจึงเป็นความรับรู้ร่วมกันระหว่างกษัตริย์และประชาชนเป็นที่มาของอำนาจปกครองในสังคมสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาสนาคือสายใยเชื่อมโยงชุมชนเมืองกับชนบทเข้าด้วยกัน การปกครองโดยธรรมจึงเป็นผลิตผลจากการที่ศาสนาและความเชื่อถือเป็นตัวเชื่อมโยงในสังคม
คติการบูชารอยพระพุทธบาทที่เกิดขึ้นในนครรัฐสุโขทัยเป็นคติดั้งเดิมในลังกา การสร้างรอยพระพุทธบาทเป็นการสร้างขึ้นโดยไป “พิมพ์” เอารอยพระพุทธบาทที่เชื่อกันว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่แท้จริงจากลังกา ปรากฏที่ลังกาเรียกว่า “เขาสุมนกูฏ” แต่การไปพิมพ์ลายมานั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการรับพระพุทธศาสนานิกายรามัญจากเมืองเมาะตะมะ ซึ่งในสมัยนั้นเมืองเมาะตะมะถือว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามีพระอุทุมพรมหาสวามีเป็นประธานซึ่งท่านได้ไปเรียนเอาพระศาสนาจากลังกามาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๗๔ เมื่อมีคณะภิกษุสงฆ์ไปบวชเรียนเอาพระศาสนาสายรามัญที่สำนักพระอุทุมพรมหาสวามีที่เมืองเมาะตะมะนั้นคงพิมพ์เอารอยพระพุทธบาทมายังเมืองสุโขทัยด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรอยพระพุทธบาทที่พบในราว พ.ศ. ๑๙๐๐ กับรอยพระพุทธบาทในเมืองมอญและพม่าทำให้เห็นว่าอิทธิพลทางศิลปะของลังกามีอิทธิพลมากต่องานศิลปกรรมและมีลักษณะที่คล้ายกันอย่างมากถึงร้อยละ ๘๐
รอยพระพุทธบาทจัดว่าเป็นหนึ่งใน “เจติยะ” หรือ “เจดีย์” แปลว่า สิ่งที่ควรบูชา รอยพระพุทธบาทจัดว่าเป็นบริโภคเจดีย์ ที่หมายถึงสิ่งที่พระเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น บาตร จีวร ต้นโพธิ์ รวมไปถึงรอยพระพุทธบาทที่เป็นเครื่องแสดงการระลึกถึงพระพุทธเจ้า กระประดิษฐานรอยพระพุทธบาทของพระญาฦๅไทยมิใช่เป็นการจำลองมาแบบธรรมดาแต่เป็นการชลอเอาความศักดิ์สิทธิ์และบารมีของพระพุทธองค์มาไว้ที่รอยพระพุทธบาท นอกจากการสร้างความสำคัญให้แก่รอยพระพุทธบาทในลักษณะนี้แล้วยังมีจารึกพรรณนาถึงผลบุญที่จะได้รับจากการนบไหว้รอยพระพุทธบาทด้วยใจศรัทธา ในศิลาจารึกหลักที่ ๓ นครชุม ได้กล่าวว่ามีการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอยู่ในเมืองสำคัญ ๕ แห่ง คือ
(๑) เมืองสุโขทัย เหนือจอมเขาสุมนกูฏ (คือเขาพระบาทใหญ่ ทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดตระพังทอง เมืองสุโขทัยเก่า จังหวัดสุโขทัย)
(๒) เขาพระบาท เมืองศรีสัชนาลัย (มีรอยพระพุทธบาท ๒ รอย ประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร (เมืองเชลียง) ๑ รอย และประดิษฐานที่วัดท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ๑ รอย)
(๓) เขาสมอแครง เมืองสรลวงสองแคว (ประดิษฐานบริเวณโรงเจไซทีฮุกตึ้ง ปัจจุบันลบเลือนมาก)
(๔) เมืองบางพาน เหนือจอมเขานางทอง (พื้นที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ)
(๕) เหนือจอมเขาเมืองพระบาง (ประดิษฐานที่วัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์)
การที่พระญาฦๅไทยทรงเลือกจอมเขาสำคัญของเมืองต่างๆ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้น ด้วยภูเขาเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อดั้งเดิมของดินแดนอุษาคเนย์ และเมืองต่างๆ ที่ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของนครรัฐสุโขทัย
การวางลายมงคล ๑๐๘ ประการ
ลักษณะการสร้างรอยพระพุทธบาทในประเทศไทยมีการสร้างและผันเปลี่ยนไปตามคติความเชื่อ ซึ่งในประเทศไทยพบว่าได้รับอิทธิพลจาก ๒ แนวทางคือ
๑. คติจากอินเดีย ลักษณะที่สร้างขึ้นในชั้นต้นได้นำเอาลักษณะฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาปานสูตรและลักขณสูตร ในสุตตันตปิฎกของทีฆนิกาย ที่กล่าวถึงพระพุทธมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในนั้นระบุถึงลักษระของพระบาทอยู่ด้วย ๕ ประการ คือ
(๑) พื้นพระบาทเรียบเสมอกัน เมื่อเหยียบถึงพื้นพร้อมกัน เมื่อยกก็พ้นจากพื้นพร้อมกัน
(๒) ใต้ฝ่าพระบาททั้งสองมีจักร มีซี่กำหนึ่งพัน มีกงมีดุม มั่นคงสมบูรณ์
(๓) ส้นพระบาทยาว นิ้วพระบาทยาวอ่อน
(๔) หลังพระบาทมีอังสะอูม
(๕) ฝ่าพระบาทอ่อนนุ่มและมีลายดังตาข่าย
๒. คติจากลังกา พบว่ามีลายลักษณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มีการเรียงตัวที่ค่อนข้างเป็นระเบียบ คือ ทำเป็นมงคล ๑๐๘ ประการในฝ่าพระบาท ซึ่งคติลายลักษณ์นี้พบในมหาปานสูตรในคัมภีร์ชินลังการฎีกา แต่งโดยพระธรรมทัตตแห่งลังกา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มงคล ๑๐๘ ประการสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
(๑) มงคลประเภทที่เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความเจริญและความอุดมสมบูรณ์
(๒) มงคลประเภทที่เป็นเครื่องประกอบบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ
(๓) มงคลประเภทที่เป็นส่วนประกอบทางรูปธรรมและนามธรรมของสุคติภพในจักรวาล
เมื่อนำมารวมกันจะได้เป็น ๑๐๘ ประการ แสดงถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่ยึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง ลักษณะการวางลายมงคล ๑๐๘ ประการของรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัยนั้นแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ
(๑) รอยพระพุทธบาทชนิดที่เรียงลายลักษณ์อยู่ในตาราง ตรงกลางของรอยพระพุทธบาทเป็นรูปธรรมจักรหรือดอกบัว นิ้วพระบาทเท่ากันทั้งห้านิ้ว
(๒) รอยพระพุทธบาทที่เรียงลายลักษณ์ อยู่ในวงกลมล้อมรอบด้วยธรรมจักรหรือดอกบัวที่อยู่ตรงกลางรอยพระพุทธบาท ซึ่งรอยพระพุทธบาทลักษณนี้พบที่รอยพระพุทธบาทสำริด วัดเสด็จ เมืองกำแพงเพชร
พระบาทศรีลักษณ
รอยพระพุทธบาท เขาสุมนกูฏ วัดตระพังทอง เมืองสุโขทัย (เก่า) พระญาศรีสูริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช ทรงประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาสุมนกูฏ เมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ (จากศิลาจารึกหลักที่ ๘ เขาสุมนกูฏ) เป็นรอยพระพุทธบาททำด้วยแผ่นหินสีเทามีขนาดกว้าง ๑๙ นิ้ว ยาว ๕๙ นิ้ว เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวา มีลายลักษณมงคล ๑๐๘ ประการ ใกล้เคียงกับที่พบในพุกาม โดยเฉพาะคติการสร้างลายมงคล ๑๐๘ ประการ เริ่มต้นใต้พระอังคุฏ (นิ้วโป้ง) เดินตามแนวนอนไปจนสุดแนวขวางจนสุดแนวส้นพระบาทแล้วย้อนตีวงแคบเข้าจนจบที่ตรงกลาง
ส่วนด้านล่างด้านซ้ายของรอยพระพุทธบาทเป็นภาพเทวดาพนมมือ ลักษณะพระพักตร์เป็นรูปรี มงกุฎเป็นทรงยอดสูงคาดแต่ละชั้นคล้ายแหวน เครื่องประดับและลวดลายการนุ่งผ้าเป็นแบบลังการ่วมสมัยกับลายภาพจำหลักพระเจ้า ๕๐๐ ชาติในอุโมงค์วัดศรีชุม ส่วนด้านล่างซ้ายเป็นภาพพระสงฆ์สาวกพนมมือถือดอกบัวสายถวายนมัสการรอยพระพุทธบาท รายรอบขอบรอยพระพุทธบาทเป็นรูปดอกบัวลักษณะคล้ายดอกพุดตานหรือดอกโบตั๋นของจีนที่มีความงามเป็นเอกทีเดียว
ในศิลาจารึกหลักที่ ๘ ได้เล่าถึงพิธีบูชารอยพระพุทธบาทว่าต้องตั้ง “กัลปพฤกษ์” “ไต้เทียน” “ประทีป” “ธูป” ประดับด้วย “ปดาก” “ขันหมากพลู” และยังมีการบูชาด้วยการประโคมพิณฑ์พาทย์ดุริยางคดนตรีอีกด้วย
ลายลักษณ์ของรอยพระพุทธบาทวัดตระพังทอง สลักอยู่ในตารางสีเหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ๑๐๘ ตาราง มีธรรมจักรซ้อนบัวคลี่ตรงกลาง ทางด้านริมซ้ายของรอยพระพุทธบาทเป็นรูปเทวดากับพระสาวกทางด้านริมขวา ทวีปน้อยๆ ๒๐๐๐ ทวีปทั้ง ๔ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ปราสาท มงคลของพระจักรพรรดิราช เช่น เศวตฉัตร พระขรรค์ พัดใบตาล บัลลังก์ ธรรมจักรบนบัลลังก์ บัวสาย สิ่งของของสถานที่ของมนุษยโลก แถวที่ ๒ เข้ามาเป็นรูปภูเขาทั้ง ๗ มหาสมุทรทั้ง ๗ สัตว์ป่าหิมพานต์ รอบในสุดที่รายล้อมธรรมจักรปรากฏเป็นรูปปราสาทยอด ๓ ชั้น ๒๒ หลัง ซึ่งหมายถึงสวรรค์ชั้นฉกามาพจรทั้ง ๖ และสวรรค์ชั้นพรหม ๑๖ ชั้น ธรรมจักรตั้งอยู่ในตาราง ๙ ช่อง เมื่อเทียบจากลักษณ์แล้วรอยพระพุทธบาทวัดตระพังทอง มีลักษณะคล้ายกับรอยพระพุทธบาทที่เจดีย์โลกนันทและเจดีย์ชเวสิคน เมืองพุกาม ประเทศพม่า เมื่อนำมาเทียบเคียงกันแล้วมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก สันนิษฐานว่าผู้ไปพิมพ์รอยพระพุทธบาทคงไปสำเนาคัมภีร์ชินาลังการฎีกามาจากพม่าอย่างแน่นอน
จารึกวัดตระพังทอง พ.ศ. ๒๔๗๐

พระปลัดบุญธรรมพูลสวัสดิ์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง)

พระปลัดบุญธรรมพูลสวัสดิ์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง)
พระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน)
อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย (ปี 2508-2513)
เกิดเมื่อ สิงหาคม 2424
อุปสมบท 2444
มรณภาพ 2513
อายุ 89 พรรษา 69
ท่านได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไปสนองงานคณะสงฆ์ที่จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้มีคุณูปการต่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณสถานอันล้ำค่า ในสมัยสุโขทัย ให้คงอยู่ด้วยการเก็บรวบรวมเอง และร่วมมือชี้แนะกรมศิลปากรในการบูรณะโบราณสถาน เป็นผู้ที่คอยจดบันทึกเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้รับรู้ มาเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าศึกษาของอนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง
คุณูปการต่อวัดตระพังทอง
- ท่านใดเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งตลาดสดวัดตระพังทอง เมื่อปี พ.ศ. ..........
- ท่านใดเป็นผู้ริเริ่มจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟจังหวัดสุโขทัยที่วัดตระพังทอง เมื่อปี พ.ศ. .......
- ท่านเป็นผู้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทที่อยู่เหนือยอดเขาพระบาทใหญ่มาประดิษฐานที่เกาะกลางน้ำวัดตระพังทอง เมื่อปี พ.ศ. ........
องค์หล่อรูปเหมือนนี้ หล่อขึ้น เมื่อปีพ.ศ. ......... ซึ่งเป็นรูปหล่อทองเหลืององค์เต็ม มีอยู่เพียงสามองค์
อยู่ที่วัดมหาดไทยจังหวัดอ่างทองบ้านเกิดของท่านหนึ่งองค์ วัดราชธานีอำเภอเมืองสุโขทันหนึ่งองค์ และที่วัดตระพังทองตำบลเมืองเก่านี้อีกหนึ่งองค์ ซึ่งหล่อขึ้นในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
ผู้จารึก พระปลัดบุญธรรมพูลสวัสดิ์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง)
สถานที่ ศาลาหลวงพ่อขาว (จำลอง) กลางอุทกเสมา วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย
ลักษณะ เป็นแผ่นศิลาสีเทาหินชนวน ขนาดสี่เหลี่ยม สูง ๑๑๓ ซม. กว้าง ๑๑๔.๕ ซม. ด้านบนหนา ๔.๑ นิ้ว
ด้านล่างหนา ๓.๑ นิ้ว มีคำจารึกอักษรไทย จำนวน ๑๗ บรรทัด
เรื่องย่อ กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทจากเขาพระบาทใหญ่มาประดิษฐานวัดตระพังทองและชุมชนเมืองเก่า
คำจารึก (สะกดตามรูปจารึกเดิม)
(๑) ......(ชำรุด).........สุโขทัยที่ได้นามว่าพระ...........(ชำรุด).................รอจำรองมาจากรอยพระพุทธเจ้าตัวจร..
(๒) ..พตในเมืองลังกาทวีปสมัยวง...............................(ชำรุด)...............................เดือน ๑๐ ศก ๑๒๘๑ ปี ประดิษฐาน
(๓) ..แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหรดีของพระนครสุโขทัยแล้วให้นามว่า สุวรรณกูต เช่นเดียวกัน
(๔) ..การฉลองเยี่ยงมะโหรานทั้งมีการนมสักการทุกๆ ปีมา ราชวงศ์พระร่วงนี้ได้ทรงสร้างจิตใจหมู่มหาชนรู้คุณค่าของ
(๕) พระรัตนไตรย์แลวัฒนธรรมสิลปกรรมหัตถกรรมพากันเคารพเลื่อมใสย์สร้างถาวรวัตถุปูชนียวัตถุไว้อย่าง
(๖) รุ่งโรจน์ทั่วอนาจักรไทย์ ครั้นต่อมาปีราชรัชสมัยแห่งวงพระร่วงทรงประมาทจึงเสื่อมอำนาจลงวงพระร่วง
(๗) ก็ได้สิ้นสุดลง มหานครสุโขทัยที่รุ่งเรืองก็กราบเป็นป่าดงอย่างหน้าสรดใจหมู่ชนที่อาไสย์อยู่ในนครนี้
(๘) ก็ได้เสื่อมจากความรู้คุณของพระสาสนาแลวัฒนธรรมสิลปกรรมอุสาหกรรมฯ ลงเป็นลำดับ ต่อมาราว
(๙) พ.ศ. ๒๔๖๑ ประชาชนในพระนครนี้จวนจะไม่รู้จักพระสาสนาว่าคืออะไร บ้างก็พากันทำรายร้างและนำสมบัติอันเป็นถาวร
(๑๐) วัตถุ ปูชนียวัตถุ ออกซื้อขายเลี้ยงชีพตามๆ กัน ราวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ เจ้าพระคุณพระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม) อุปัชชา
(๑๑) ยะของข้าฯ ได้มาเห็นพฤติการณ์ของปวงชนในพระนครนี้กำลังพากันเข้าสู้อบายอย่างน่าสงสาร ท่านจึงจัดการ
(๑๒) กอบกู้ให้หมู่ชนพ้นอบาย ได้นำประชาชนไปอันเที่ยวพระพุทธบาทที่อยู่เขาชื่อ สุวรรณกูต นี้มาประดิษฐานไว้ ณ
(๑๓) เกาะตะพังทอง แล้วมีการนมัสการประจำทุกๆ ปีมีการปรับปรุงวัดวาอาราม กระทำสะพานข้ามเข้าเกาะแลบำรุงสระให้มีน้ำ
(๑๔) ใช้ตลอดเวลาท่านได้สร้างมณฑภได้ศาลากุฎีเป็นที่อาไสย์แลขอจักรักษาจากเจ้าหน้าที่รักษาถาวรวัตถุปูชนียวัตถุรวบรวม
(๑๕) ทำบัญชีส่งกรมเพื่อสงวนไว้ ท่านกอบกู้อยู่ ๖ ปี ประชาชนก็ไม่เป็นผลแสดงฆ่าสึกเสมอมา ท่านจึงมีการ
(๑๖) เบื่อหน่าย แต่ยังสงสาร จึงส่งข้าฯ มาบริหารพระสาสนาในนครสุโขทัย ข้าฯ ได้กอบกู้จิตต์ใจประชาชนด้วยขันติวิริ
(๑๗) ยะภาพจนเลื่อมไสย์ เมื่อข้าฯ ชนะพาลชนแล้ว ข้าจึง__
|
ตำนานพระร่วง – ขอมดำดิน
พงศาวดารเหนือ
พระวิเชียรปรีชา (น้อย)
ขณะนั้น บุตรพระยาร้อยเอ็ดเป็นนายส่วยน้ำถึงแก่พิราลัย ขณะนั้นนายคงเคราเป็นส่วยน้ำเสวยเมืองละโว้ไปส่งเมืองกัมพูชาธิบดี สามปีส่งทีหนึ่ง แต่นั้นมานายคงเคราคุมไพร่ ๓๐๐ คน รักษาน้ำเสวยอยู่ในทะเลชุบศร มีเรือเล็กร้อยหนึ่ง นายคงเครามีบุตรคนหนึ่งอายุ ๑๑ ขวบ ชื่อนายร่วง แต่ชาติก่อนเอาผลมะทรางทำน้ำอัฐบานถวายพระโกนาคมพุทธเจ้า จึงว่าไรเป็นนั้น [เหตุที่มีวาจาสิทธิ์] ครั้นอยู่มาน้ำมากเอาเรือพายเล่นในท้องพรหมมาศเหนื่อยแล้วขึ้นมาจึงว่าน้ำลงเชี่ยวนัก ให้ไหลกลับไปถึงเรือนเราเถิด พอตกคำลงน้ำก็ไหลกลับมาส่งถึงบ้าน นายร่วงเห็นดังนั้นก็นิ่งอยู่
ครั้นอยู่มานายคงคุมไพร่เป็นนายกองนั้นตาย ไพร่ทั้งปวงจึงยกนายร่วง บุตรนายกอง เป็นนายกองบังคับไพร่ต่อมา
ครั้นอยู่มาครบคำรบ นักคุ้มคุมเกวียน ๕๐ เล่มกับไพร่ ๑๐๐๐ หนึ่งมาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์ [บ้างก็เรียก ปทุมสุริยวงศ์] สืบมา ลุ้งน้ำเล่มละ ๒๕ ใบ ครั้นมาถึงที่สระน้ำนั้นก็จอดเกวียนพร้อมกัน จึงให้หานายกองให้เปิดประตูจะตักน้ำหาพบนายกองไม่ ถามไพร่ๆ บอกว่านายร่วงบุตรนายคงเป็นนายได้รักษา จึงบอกนายๆ ก็มาพูดจากับนักคุ้มว่าลุ้งน้ำเอามาหนักเสียเปล่า ครั้งนี้ไขว่ชลอมใส่ไปเถิด จะได้มากได้พอนานจึงมาตัก นักคุ้มก็ตอบว่าตาห่างจะขังน้ำได้หรือ นายร่วงว่ากลัวจะไม่มีที่ใส่อีก นักคุ้มกลัวก็รับ จึงเกณฑ์สานชะลอมเล่มละ ๒๕ ใบ ให้นักคุ้มนำกราบทูลพระเจ้าละแวกเถิด ครั้นกำหนดจะกลับจึงเปิดประตูเอาชะลอมลงจุ้มน้ำยกขึ้นใส่เกวียนบรรทุกลงแล้ว นักคุ้มกลัวก็ยกไปจากที่นั้น ครั้นแรมร้อนมาถึงแดนด่าน คนคุมน้ำมาสงสัยในใจอยู่ว่าชะลอมจะขังน้ำได้หรือ บันดาลให้น้ำในเล่มเกวียนนั้นไหลลงเห็ฯทั่วกันจึงสรรเสริญ ฉะนั้นจึงจารึกลงไว้ ที่นั้นเรียกว่า ด่านพระจารึก จึงยกไปทางตึกโช
ครั้นถึงเมืองเข้าแล้วผู้คนก็เล่าลือกันว่าเอาชะลอมบรรทุกมาไม่มีน้ำ พระเจ้ากรุงกัมพูชาจึงเอานักคุ้มนายกองคุมเกวียนไปถาม ก็ทูลทุกประการ ยกชะลอมน้ำแกล้งเทลงในพะเนียงจนไม่มีที่ใส่ เสนาอำมาตย์จึงกราบทูลพระเจ้ากรุงกัมพูชา ๆ ตกพระทัยว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว เราคิดว่าจะจับตัวฆ่าเสียให้ได้ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตพระยาพระเขมรก็เห็นด้วย จึงเกณฑ์ทัพเมืองขอมไปตามจับ
นายร่วงรู้ข่าวดังนั้นก็หนีไปถึงแดนพิจิตร ไปอาศัยเขาอยู่ริมวัด ขอข้าวชาวบ้านกิน ชาวบ้านเอาข้าวมาให้แก่นายร่วงกับปลาหมอตับหนึ่ง นายร่วงอดอาหารมาก็กิน หยิบปลาข้างละแถบแล้วโยนลงไปในสระให้ปลาเป็นว่ายไปจนคุ้มเท่าบัดนี้ [ที่มาของปลาพระร่วง] นายร่วงก็หนีไปจากที่นั้นไปอาศัยอยู่วัดเมืองสุโขทัย พอได้อุปสมบทสมภารจึงเรี่ยไรชาวบ้าน เอานายร่วงอุปสมบทเป็นภิกขุ จึงเรียกว่า พระร่วง
ขอมดำดินมาถึงเมืองละโว้ที่สระน้ำเสวยนั้น ถามชาวบ้านว่านายร่วงนายกองส่วยน้ำอยู่หรือ ชาวบ้านบอกว่าขึ้นไปเมืองเหนือ ขอมรู้ดังนั้นก็ยกแยกกันไป ครั้นไปถึงเมืองสวรรคโลกถามชาวบ้านว่านายร่วงมาแต่เมืองใต้มาอยู่นี่หรือ ชาวบ้านบอกว่าเขาลือกันว่าไปอยู่เมืองสุโขทัยบวชเป็นภิกขุอยู่ ขอมได้ความดังนั้นก็ไปเมืองสุโขทัย ผุดขึ้นกลางวัด พอพระร่วงมากวาดวัดอยู่ ขอมจึงถามว่าพระร่วงอยู่ไหน พระร่วงบอกว่าอยู่นี่เถิดจะบอกให้ ขอมก็อยู่ที่นั้นเป็นหินอยู่คุ้มเท่าบัดนี้
พระพุทธศักราช ๑๕๐๒ ปี เจ้าเมืองสุโขทัยทิวงคต เสนาบดีประชุมกันว่า วงศานุวงศ์ไม่มีแล้วเราจะเห็นผู้ใดเล่า เห็นแต่พระร่วงบวชอยู่วัด ก็เห็นอยู่พร้อมกัน จึงเสนากรมการพร้อมกันไปวัดอัญเชิญพระร่วงเจ้าลาผนวชแล้วรับพระร่วงเข้ามาครองกรุงสุโขทัย
ในคราวที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จมาเมืองสุโขทัยเก่า พ.ศ. ๒๔๔๔ เสด็จมาที่วัดมหาธาตุ ...ที่หน้าวิหารทิศใต้ มีฐานก่อด้วยแลงอันหนึ่ง เห็นจะเปนฐานพระเจดีย์ ที่ข้างฐานนั้นมีหินก้อนหนึ่ง ที่ว่าเปนขอมดำดินมาเพื่อฆ่าพระร่วงโผล่ขึ้นครึ่งตัวถามหาพระร่วงต่อตัวพระร่วงเอง พระร่วงจึงสาปให้คาแผ่นดินอยู่ครึ่งตัวกลายเป็นหิน แต่บัดนี้ไม่มีคาเสียแล้ว ขึ้นอยู่บนแผ่นดินเต็มตัว เพราะหลวงสารสาสน์ (เยรินี) มาขุดเอาขึ้นไว้ การที่ขุดขึ้นนั้นไหนจะเพราะอยากรู้ว่าหินอะไร เดิมมันจมดินอยู่แลลึกด้วย เพราะถูกคนต่อยเอาไปเปนเครื่องราง หลวงสารสาสน์ก่อนที่จะขุดคงนึกว่าเปนหินรูปพรรณอะไรอย่างหนึ่ง แต่ขุดขึ้นมาแล้วคงเสียใจ ด้วยยังไม่รู้ว่าอะไรอยู่นั่นเอง จะว่าก้อนหินธรรมดาก็ใช่ จะว่ารูปพรรณอะไรก็เชิง มันเปนอย่างนี้ ถ้าเปนรูปพรรณก็งามจะเปนองค์พระที่รักแร้วิหารทิศด้านหลังพระมหาธาตุ...
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และได้เสด็จที่วัดมหาธาตุ ทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชนิพนธ์ใน “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า
อนึ่ง วัดมหาธาตุนี้ราษฎรนับถือกันว่าเป็นที่สำคัญนัก เพราะกล่าวว่าเป็นที่พระร่วง (นายส่วยน้ำ) ได้มาผนวชอยู่ ยังมีสิ่งที่ชี้เป็นพยานกันอยู่ คือ ขอมดำดิน ซึ่งตามนิทานว่าดำดินมาแต่นครธม มาโผล่ขึ้นในลานวัดกลางเมืองสุโขทัยเพียงแต่อก เห็นพระร่วงซึ่งผนวชเป็นภิกษุกวาดลานวัดอยู่ ขอมไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วง พระร่วงก็บอกว่าให้ขอมคอยอยู่ก่อน จะไปตามพระร่วงมาให้ กายยขอมก็เลยกลายเป็นศิลาติดอยู่ที่ลานวัดนั้นเอง ก้อนศิลาซึ่งสมมุติเรียกกันว่าขอมดำดินนี้ อยู่ในลานพระมหาธาตุข้างด้านใต้ ที่ยังแลเห็นได้นั้นเป็นรูปมนๆ คล้ายหัวไหล่คน ถ้าแม้ต่อศีรษะเข้าก็พอจะดูคล้ายรูปคนโผล่ขึ้นมาจากดินเพียงหน้าอกได้ ศิลานั้นเบียดอยู่กับฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง แต่บัดนี้พระเจดีย์นั้นพังเสียมากแล้ว จึงเห็นศิลานั้นได้ถนัด เมื่อแรกเห็นอยากจะใคร่เดาว่าเป็นศิลาจารึกอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เมื่อได้พิจารณาดูแล้วจึงเห็นว่าเป็นศิลาเกลี้ยงๆ อยู่ ยิ่งเป็นที่น่าพิศวงยิ่งขึ้น ว่าเหตุไฉนจึงเอาก้อนศิลาเช่นนี้มาฝังไว้ในที่นี้ อย่างไรๆ ก็เชื่อว่าไม่ใช่ศิลาที่เกิดอยู่ในพื้นที่นั้นเอง เพราะที่อื่นๆ ก็ไม่เห็นมีก้อนศิลาเช่นนั้น จึงต้องเข้าใจว่ามีผู้นำมาปักไว้จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่าเอามาปักไว้ทำไม นึกอยากจะเดาว่ามาปัหไว้ทำหลักเมือง เพราะที่ตรงนั้นก็ดูเป็นที่เกือบจะกลางเมือง การที่เข้าไปอยู่ในเขตวัดเช่นนั้นก็อาจจะมีหนทางที่อาจจะเป็นไปได้ทางหนึ่ง คือพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งจะใคร่สร้างวัดที่ไว้พระมหาธาตุเลือกได้ที่เหมาะกลางเมือง จึงสร้างลงไปริมหลักเมืองซึ่งไม่เป็นข้อขัดข้องประการใด ...ข้อความที่สันนิษฐานเรื่องศิลาขอมดำดินคืออาจที่จะเดาต่อไปว่า ครั้นเมื่อได้สร้างวัดมหาธาตุลงที่ริมหลักเมืองเดิมแล้ว ท่านต้องการจะขยายลานออกให้กว้างออกไป และต้องการทำการโยธาต่างๆ ในวันนั้น ท่านอาจจะเกิดรู้สึกขึ้นมาว่า การที่หลักเมืองมาอยู่ตรงนั้นกีด จึงคิดอ่านย้ายไปไว้เสียแห่งอื่นให้พ้น แต่หลักศิลาที่ท่านปักไว้เป็นเครื่องหมายเดิมนั้นไม่ได้ย้ายไป
...ในกาลบัดนี้ปลายอยู่เพียงเสมอพื้นดิน แต่พิจารณาดูเห็นรอยถูกต่อยมาก พระยาอุทัยมนตรีสืบได้ความมาจากคนชราที่อยู่ใกล้ที่นั้นว่า ได้เคยเห็น “ขอม” นั้นสูงพ้นดินขึ้นมามากกว่าศอก และได้ความว่าชาวเมืองพอใจต่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ไปฝนเข้ากับยา นิยมกันว่ามีรสทั้งเปรี้ยวทั้งหวานทั้งเค็ม เป็นยาอย่างประเสริฐนัก ว่าแก้โรคภัยต่างๆ ได้สารพัด ได้นิยมกันมาเช่นนี้ช้านานแล้ว ยังมาตอนหลังผู้มาเที่ยวชอบต่อยชิ้น “ขอม” ไปเป็นที่ระลึกอีก และ “ขอม” นั้นก็เป็ฯศิลาแดงต่อยง่าย เพราะฉะนั้น “ขอม” จึงเหลืออยู่น้อยเท่านี้ แต่บัดนี้ผู้ว่าราชการเมืองได้ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งต่อยหรือทำอันตรายศิลานั้นอีกแล้ว จึงพอจะเป็นที่หวังได้ว่าคนที่จะไปเมืองสุโขทัยต่อๆ ไปในกาลเบื้องหน้าคงจะยังได้ดู “ขอมดำดิน” ...
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้นำโครงเรื่อง “พระร่วง - ขอมดำดิน” จากพงศาวดารเหนือ ของพระวิเชียรปรีชา (น้อย) มาเป็นเค้าเรื่องในการพระราชนิพนธ์บทละครพูดคำกลอนเรื่อง “พระร่วง” เพื่อนำไปเล่นเป็นละครปลุกใจให้เกิดความรัก และความภูมิใจในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และล้นเกล้า รัชกาลที่ ๖ ได้แสดงเป็น นายมั่นปืนยาว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
นอกจากนี้ “พระร่วง” ยังปรากฏนามในตำนานท้องถิ่นอีกมากมาย เช่น ตำนานพระร่วงลูกนางนาค, ตำนานพระร่วงวิ่งว่าว, ตำนานรักพระร่วง, ชื่อบ้านนามเมืองจากพระร่วง, ปลาก้างพระร่วง, ข้าวตอกพระร่วง, ข้าวสารดำพระร่วง, ไม้แก้งขี้พระร่วง เป็นต้น ซึ่งที่สำคัญของเรื่องพระร่วงคือการมีวาจาสิทธิ์ การมีวาจาสิทธิ์ของพระร่วงนี้ยังมีคติสอนใจให้ชาวบ้านชาวเมืองเป็นผู้ที่รักษาศีลข้อ ๔ คือ “มุสาวาทาเวรมณี” หมายถึง การละเว้นจากการพูดปด การรักษาคำพูด การมีวาจาสัตย์ ที่นำไปสู่การมีวาจาสิทธิ์นั่นเอง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและชุมชนเมืองเก่า
ชุมชนในเขตเมืองเก่าสุโขทัย ประกอบด้วยชุมชนทั้งชุมชนในกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง
- ชุมชนในเขตกำแพงเมือง ได้แก่ ชุมชนบ้านเหนือ ชุมชนบ้านใต้ ชุมชนสุโขทัยนคร ๑ ชุมชนสุโขทัยนคร ๓ ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ชุมชนรามใหญ่ ชุมชนรามเล็ก
- ชุมชนนอกกำแพงเมือง ได้แก่ (ทิศเหนือ) ชุมชนลิไท ชุมชนบ้านคุ้งหวาย ชุมชนบ้านปากคลอง (ทิศใต้) ชุมชนเชตพน (ทิศตะวันออก) ชุมชนวัดตระพังทองหลาง ชุมชนแม่ลำพัน และ(ทิศตะวันตก) ชุมชนป่ามะม่วง ชุมชนวัดศรีชุม
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นโครงการของแผนงานสงวนรักษาอนุรักษ์และซ่อมแซมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำเสนอคณะรับมนตรี (นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) อนุมัติ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๙ ให้กรมศิลปากรดำเนินการพัฒนาพื้นที่ขอบเขตของเมืองสุโขทัยเก่าซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑,๖๐๐ ไร่ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภายในวงเงิน ๔๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ ในระยะแรก เรียกว่า “กองงานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” มีหน้าที่รับผิดชอบด้านพัฒนาบริเวณโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย ประกอบด้วย (๑) งานเทคโนโลยี (๒) งานออกแบบอุทยาน (๓) งานก่อสร้างและบูรณะโบราณสถาน และ (๔) งานบริการ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการกับองค์การศึกษาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๒ จัดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างชาติดำเนินการพัฒนากิจกรรมสาขาต่างๆ ในเขตพื้นที่ ๗๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเงิน ๒๖๐.๓ ล้านบาท พัฒนาในระยะเวลา ๑๐ ปี และมีคำสั่งขอขยายพื้นที่เข้าครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ เป็นโครงการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมระหว่างชาติ โครงการแรกของประเทศไทย โดยมีกำหนดในการพัฒนาพื้นที่ให้แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๒๕
ในระยะที่มีการพัฒนาพื้นที่นี้เอง กรมศิลปากรได้ทำการปรับปรุงการใช้ที่ดิน โดยจัดตั้งชุมชนใหม่ ๒ แห่ง ในบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เรียกว่า “บ้านรามใหญ่” และบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า “บ้านรามเล็ก” เพื่อย้ายบ้านเรือนราษฎรที่อยู่กระจายตามเขตโบราณสถานภายในกำแพงเมืองและพวกที่ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายทำสวนอยู่ในบริเวณเขตอุทยานฯ นำมาอยู่รวมกันในบริเวณหนึ่งโดยการจัดสรรที่ดินให้เป็นสัดส่วนอยู่ในบริเวณเขตอุทยานฯ แบ่งพื้นที่เป็นครัวเรือนละ ๒ งาน
ของดีเมืองเก่า
(๑) การทำเครื่องสังคโลก โดยเริ่มทำเครื่องสังคโลกเลียนแบบของเก่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๗ เป็นต้นมาโดยนายแฟง พรหมเพชร ตั้งอยู่บริเวณชุมชนบ้านใหม่วัดตระพังทอง มีหลายบ้านที่ได้ดำเนินกิจการเครื่องสังคโลกเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ สุเทพสังคโลก คะเณชาสังคโลก อุษาสังคโลก และบัวสังคโลก
(๒) หัตถกรรมแกะสลักไม้ ทำบริเวณบ้านเหนือ หรือชุมชนสุโขทัยนคร การแกะสลักไม้เริ่มทำกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ ในระยะแรกจะนำมาขายเป็นของที่ระลึกบริเวณข้างวัดมหาธาตุ แต่ส่วนใหญ่จะมีรถมารับเครื่องไม้สลักเหล่านี้ไปขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร การแกะสลักไม้นี้มักทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว กวาง ลิง ปลา นกต่างๆ เป็นต้น และมีการพัฒนาเป็นเครื่องใช้สอยต่างๆ ในปัจจุบัน
(๓) หัตกรรมใบลานประดิษฐ์
ที่ชุมชนลิไท และชุมชนคุ้งหวาย มีการนำใบลานมาจักสานประดิษฐ์ผสานกับภูมิปัญญาไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามต่างๆ ได้แก่ การจักสานปลาตะเพียน การประดิษฐ์กระทงใบลาน
รายนามเจ้าอาวาส วัดตระพังทอง
รูปที่ ๑ พระอาจารย์เนตร พ.ศ. ๒๔๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐
รูปที่ ๒ พระปลัดบุญธรรม พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๓
รูปที่ ๓ พระอาจารย์ทึม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๑
รูปที่ ๔ พระครูสุขวโรทัย (ประดับ อินฺทโชโต) พ.ศ. ๒๔๙๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๖
รูปที่ ๕ พระอาจารย์เตี้ย ฐานตฺตโม พ.ศ. ๒๔๙๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๐
รูปที่ ๖ พระอาจารย์เฉลิม พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๒
รูปที่ ๗ พระมหาธวัช พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๒
รูปที่ ๘ พระอาจารย์จวง ปญฺญาทีโป พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๐
รูปที่ ๙ พระมหาจำรัส สิริปุญฺโญ (ป.ธ. ๔) พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๔
รูปที่ ๑๐ พระครูวิมลธรรมโกศล (ป.ธ. ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๗
รูปที่ ๑๑ พระมหาดำรงค์ สนฺตจิตฺโต (ป.ธ.๗) พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง ปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. เสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. พิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๑๓.
คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร. รายงานการสำรวจและขุดแต่ง
บูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๑๒. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในโอกาสวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒.
จิรวัฒน์ พิระสันต์ และคณะ. การพัฒนาชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแบบมีส่วนร่วมโดยใช้องค์ความรู้
ทางด้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๕๕.
ฐาปกรณ์ เครือระยา. อุทกสีมา : วิวัฒนาการแพขนานสู่อุโบสถกลางน้ำในวัฒนธรรมล้านนา. วารสารหน้าจั่ว
ฉบับที่ ๓๒ (มกราคม-ธันวาคม ๒๕๖๐).
ตรี อมาตยกุล. นำเที่ยวเมืองสุโขทัย. พระนคร : ศิลปะบรรณาคาร, ๒๔๙๘.
มะลิ โคกสันเทียะ. นำชมโบราณวัตถุสถานในจังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๑๒.
นริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฉลองวันประสูติ
ครบ ๑๐๐ ปี วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖.
นิสา พิมพิเศษ. ผลกระทบจากการจัดเทศกาลลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
จังหวัดสุโขทัย. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๑.
ปัทมา เอกม่วง. การเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมบนรอยพระพุทธบาทที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยาและ
วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.
พระวิเชียรปรีชา (น้อย). พงศาวดารเหนือ ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑ (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๑ ตอนต้น).
กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๖.มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เที่ยวเมืองพระร่วง.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวารพระราชทานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีนเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔.
ระวีวรรณ บุญญศาสตร์พันธุ์. ผลกระทบโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ต่อชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย. ภาควิชา
โบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๕.
สุธนา เกตุอร่าม. การสร้างรอยพุทธบาทสมัยพญาลิไท. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,
๒๕๒๓.
ใส น้อยถึง. เมืองเก่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๘๐ ในอนุสรณ์งานฌาปณกิจศพคุณแม่จรุงกลิ่น ปรีชาชาญ
วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ เมรุวัดตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย.

ประวัติวัดตระพังทอง
วัดตระพังทอง ตั้งอยู่บนเกาะกลางตระพังทอง หนึ่งในสี่สระ หรือตระพังน้ำขนาดใหญ่ ของเมืองสุโขทัย คือตระพังเงิน ตระพังสระศรี (ตระพังตระกวน) ตระพังสอ และตระพังทอง ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำสำคัญ โดยได้รับน้ำจากน้ำฝนและแหล่งเก็บน้ำ เขื่อนสรีดภงส์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี)ของตัวเมือง กลางตระพังมีลักษณะเป็นเนินคันหรือเกาะขนาดย่อย มีอาคารพุทธศาสนสถานตั้งอยู่ทั้งสี่แห่ง ที่เกาะกลางตระพังเงินเป็นโบสถ์กลางตระพัง ที่ตระพังสระศรีมีเจดีย์วิหารและโบสถ์ ที่เกาะตระพังสอมีศาลาโถง ด้านหน้าศาลาเป็นเจดีย์ ขนาดเล็ก ๑ องค์ ด้านหลังเป็นเจดีย์ขนาดใกล้เคียงกัน ๓ องค์ ส่วนที่เกาะกลางตระพังทอง มีเจดีย์ วิหาร และโบสถ์
น่าจะเป็นโบราณสถานสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาพร้อมกัน แต่มีนักปราชญ์ผู้รู้ ที่พูดถึงสถานที่แห่งนี้หลายท่านหลายวาระ เช่น


สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง “จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก” (โดยเทียบเคียงได้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ตามหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุโขทัย (เอกสารหมายเลข ๑ หน้า ๕๐) ) ว่าเวลาบ่าย ๔ โมง ๔๕ ออกไปดูตระพังทอง ซึ่งอยู่ข้างที่พัก ตระพังเป็นภาษาเขมร เห็นจะแปลว่าสระ ตระพังทองเป็นสระกว้างประมาณ ๔ เส้นครึ่ง สี่เหลี่ยม กลางมีเกาะกว้าง ๒ เส้น สี่เหลี่ยม ในเกาะมีวัดเรียกว่า วัดตระพังทอง มีเจดีย์ลังกาสูงประมาณ ๑๒ วา อยู่กลาง ข้างด้านหน้าตะวันขึ้น มีวิหาร ข้างด้านหลังตะวันตกมีโบสถ์ ข้างข้างทั้งด้านเหนือและใต้ มีพระเจดีย์เล็ก ๆ เรียงเป็นแถวทั้ง ๒ ด้านอย่างที่เขียนไว้ในแผนที่สุโขทัย หน้า ๘๑ นั้น สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นล้วนแต่ชำรุดพังเคทั้งนั้น แต่โบสถ์ได้มุงหลังคาแฝกไว้ ท่านพระยาจางวาง ท่านจัดการ เพราะวัดนี้ท่านใช้เป็นที่พักรักษาอุโบสถของท่าน มีกระท่อมน้อย ปลูกลงในตระพังข้างหลังเกาะหลังหนึ่งเป็นที่ท่านอยู่จำศีล และท่านได้ชักชวนพระมาอยู่ ปลูกกุฎีแฝกไว้ข้างเกาะ ด้านเหนือหลังหนึ่ง ให้พระอยู่ แต่ไม่ใคร่สำเร็จ เพราะพระที่มาอยู่ทนจู๋ไม่ไหว อยู่หน่อยแล้วก็ไป จะหาว่าหากินไม่ได้ก็ไม่เชิง เพราะบ้านคนในเมืองเก่านี้ก็มี................แต่เมื่อเวลาไปคราวนี้ พระมีอยู่ ท้องตระพังมีน้ำเฉาะแฉะ มีหญ้าและอ้ายรกๆ ต่าง ๆขึ้น น้ำใช้ไม่ได้ .........”
ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือเรื่อง (ตามเอกสารหมายเลข ๒ หน้า ๗๖ – ๗๗) “ สุโขทัย เมืองเก่าของเรา” รวบรวมเรียบเรียงโดย นายหวน พินธุพันธ์ กล่าวไว้ในหัวข้อ วัดในตัวเมืองสุโขทัย.....
/พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว...
-๒-

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงตำแหน่งเป็น มกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (เอกสารหมายเลข ๓ หน้า คำนำ ) แล้วได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ทรงกล่าวถึงวัดตระพังทองว่า “.....พอออกจากที่พักเข้าประตูเมือง ด้านตะวันออกไปได้หน่อยถึงหมู่บ้านในเมือง (ซึ่งมีอยู่ ๓ หมู่บ้านด้วยกัน) บ้านนั้นตั้งอยู่ใกล้ตระพังทอง เป็นสระน้ำใหญ่อันหนึ่งในเมืองนี้ .....ที่ตระพังทองนั้นมีวัด เรียกว่า วัดตระพังทอง มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ กลางตระพังมีเกาะ บนเกาะนั้นมีพระเจดีย์ใหญ่อยู่กลางองค์หนึ่ง มีพระเจดีย์บริวารอีก ๘ องค์ พระเจดีย์ใหญ่ยังเป็นรูปร่างอยู่ คือเป็นรูประฆัง ข้างล่างเป็นแลงข้างบนเป็นอิฐ พระเจดีย์บริวารนั้นชำรุดเสียโดยมากแล้วดูท่าทางบางทีจะเป็นวัดไม่สู้สำคัญนัก และน่าจะไม่สู้เก่านักด้วย ที่เกาะนี้พระยารณชัย ชาญยุทธ (ครุธ) เจ้าเมืองสุโขทัยเก่า ซึ่งได้ออกบรรพชาเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้สร้างกุฏิอาศัยอยู่ และเวลาที่ได้ไปดูวัดนั้นก็ได้เห็นโบสถ์ ซึ่งสามเณรรณชัย ได้จัดการเรี่ยรายและกำลังสร้างขึ้น...(เอกสารหมายเลข ๓ หน้า ๕๔ )”
จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้อเขียนของท่านผู้รู้อื่น ตามที่ยกมาอ้างอิงนั้น ทรงเชื่อและต่างมีความเห็นว่า โบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นทีหลัง ไม่เก่าถึงสมัยสุโขทัย ส่วนพระราชนิพนธ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ไม่ทรงชี้ลงไปว่า เป็นของสร้างใหม่หรือของเก่า เพียงแต่ทรงเล่าว่าข้างหลังเจดีย์ด้านทิศตะวันตกเป็นโบสถ์นั้นมุงหลังคาแฝกไว้ และว่าท่านพระยาจางวางจัดการสร้างโบสถ์ (พระยารณชัยชาญยุทธ อดีตจางวางกำกับราชการเมืองสุโขทัย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๔๔ ) (เอกสารหมายเลข ๔ หน้า ๑๔-๑๖)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ครั้งเสด็จออกตรวจการคณะสงฆ์มณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เสด็จถึงวัดตระพังทอง ดังพระราชนิพนธ์ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “.....วันที่ ๙ ธันวาคม เวลาก่อนเสวยเช้า เสดจเที่ยวทอดพระเนตรภูมิลำเนาในตำบลนั้นเป็นการเงียบ เสด็จถึงวัดตระพังทอง อันตั้งอยู่ริมทางซึ่งเสดจผ่านมาเมื่อวานนี้ ฯ ในร่วมกำแพงเมืองเก่านี้ มีวัดซึ่งมีพระสงฆ์อยู่แต่วัดเดียวเท่านั้น ทราบว่ามีพระสงฆ์อยู่ ๕ รูป เปนที่ทำบุญแห่งชาวบ้านตำบลนี้แท้ๆ เสด็จไปถึงเข้าทรงพบพระรูปหนึ่งชื่อ เบี้ยว ตรัสไต่ถามทรงทราบว่า เธอเป็นพระอธิการแห่งวัดนั้นแต่มีพรรษาเดียว จึงทรงดำหริว่าในตำบลอันมีวัดมีพระสงฆ์แต่วัดเดียว แลเปนที่ทำบุญของราษฎรในตำบลนั้น แต่ไม่มีพระผู้มีพรรษาสมควรจะปกครอง เช่น วัดตระพังทองนี้เปนตัวอย่าง ควรให้กำนันและราษฎรตำบลนั้นรักษาไว้ เพราะเปนแต่ผู้อาศัยสำหรับทำบุญแห่งชาวบ้าน ข้อนี้เทียบได้ในครั้งพุทธกาล เช่น
เชตวันวิหาร ถึงคราวพระสงฆ์อยู่ก็อยู่ไป ถึงคราวพระสงฆ์จาริกไปไหนๆ เสีย พวกทายกเป็น
/ผู้รักษาฯ เสด็จทอดพระเนตร…
-๓-
ผู้รักษาฯ เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ในวัดนั้นตามสมควรแล้ว เสด็จกลับพลับพลา มีพวกราษฎรมาคอยตักบาตรหน้าพลับพลา ทรงรับบิณฑบาตแล้ว เสด็จขึ้นประทับ ณ มุขพลับพลา” (เอกสารหมายเลข ๕ หน้า ๑๑๘-๑๑๙)
นายตรี อมาตยกุล เล่าไว้ในหนังสือ “นำเที่ยวเมืองสุโขทัย” ซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ (เอกสารหมายเลข ๖ หน้า คำนำ) เขียนถึงวัดตระพังทองว่า “เมื่อผ่านกำแพงเมืองเข้าไปสักหน่อย ทานจะแลเห็นสระใหญ่ อยู่ริมถนนทางซ้ายมือ สระนี้เรียกกันว่า “ตระพังทอง” น้ำในสระสะอาดและจืดสนิทราษฎรในเมืองสุโขทัยเก่า ได้อาศัยใช้น้ำในสระนี้สำหรับบริโภค ได้ตลอดทั้งปี ในบริเวณวัดตระพังทองเป็นที่ตั้งของวัดโบราณวัดหนึ่ง ซึ่งเรียกตามนามของตระพังว่า “วัดตระพังทอง” วัดนี้เป็นวัดเดียวในเมืองสุโขทัยที่ยังไม่ร้าง คือในปัจจุบันยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ แต่สิ่งสำคัญภายในวัดได้ปรักหักพังลงไปมากแล้ว ยังมีของฝีมือช่างสมัยสุโขทัยเหลืออยู่ สองสามชิ้นเท่านั้น...... วัดนี้ยังมีพระอุโบสถ ๒ หลัง พระอุโบสถเก่าอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่กุฏิสงฆ์ มีพระประธานรูปปั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ได้ซ่อมกันเสียหลายครั้งหลายคราว แต่ยังพอสังเกตรูปทรงได้ว่าของเดิมเป็นฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ส่วนพระอุโบสถใหม่นั้นอยู่ทางทิศตะวันตกพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐ ปีมานี้เอง คือพระยารณชัย ชาญยุทธ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัย เมื่อครั้งออกบวชเป็นสามเณรและจำพรรษาอยู่วัดนี้ โดยเรี่ยรายเงินจากราษฎรสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๐ ”(เอกสารหมายเลข ๖ หน้า ๔๖ – ๔๗)
นายมะลิ โคกสันเที๊ยะ เล่าในหนังสือ “ นำชมโบราณวัตถุสถาน ในจังหวัดสุโขทัย”
( เอกสารหมายเลข ๗ หน้า ๒๒ – ๒๓ ) ว่า “......วัดนี้ถึงแม้ว่าจะไม่มีโบราณสถานอะไรน่าดูนัก นอกจากเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาองค์ขนาดย่อม ตั้งอยู่กลางสระน้ำสี่เหลี่ยมที่มีน้ำขังเต็มเปี่ยม ดังเช่น วัดตระพังเงิน สิ่งที่ท่านจะผ่านไปเสียมิได้ก็คือ รอยพระพุทธบาท อยู่ในมณฑปที่อยู่กับเจดีย์กลางเกาะ รอยพระพุทธบาทนี้เป็นศิลาสีเทาปนดำ ซึ่งพระเจ้าลิไทโปรดให้สร้างประดิษฐานไว้บนสุวรรณกุฎ หรือเขาพระบาทใหญ่ เมื่อ ปี พ.ศ. ๑๙๐๓ ภายหลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชประสิทธิคุณ ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ ได้นำรอยพระพุทธบาท ใส่เกวียนนำไปไว้ที่วัดตระพังทองกลางเกาะตามหนังสือ ‘พลิกประวัติศาสตร์สุโขไท ฉบับ ๗๐๐ ปี กำเนิดลายสือไท” (เอกสารหมายเลข ๘ หน้าที่๕๖๗-๕๗๗) บอกว่า..... “ พระพุทธบาทจำลองแผ่นนี้ ประดิษฐานอยู่เหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพตเมืองสุโขไท (วัดเขาพระบาทใหญ่) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๐๒ เป็นต้นมา........
/ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓…
-๔-
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาผู้หนึ่งชื่อแม่ล้วนหรือคุณนายล้วน ได้ทำการบูรณะ ก่อเสริม ทำโครงหลังคาใหม่เพราะแต่เดิมโบสถ์หลังนี้หลังคามุงแฝกไม่ถาวร ชำรุดแหว่งโหว่ไม่สะดวกในการใช้สอย เมื่อมีงานบวชหรือทำสังฆกรรมอื่นใด เจ้าของงานต้องทำหลังคาชั่วคราวเอาเองโดยใช้ใบมะพร้าว แฝก และวัสดุอื่น ๆ มุง พอคุ้มแดดกันฝนไปคราวๆ หนึ่ง เมื่อพระราชประสิทธิคุณ ได้เข้ามาดูแลบำรุงวัดนี้
แม่ล้วนซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสในพระราชสิทธิคุณจึงได้เข้ามาช่วยเหลือในการฟื้นฟูวัด โดยการซ่อมแซมก่อเสริมผนังโบสถ์ เพื่อทำหลังคาถาวร มุงกระเบื้อง และก่อเสริมมุมหน้า ให้ดูสง่างามโอ่โถงขึ้น เนื้องานที่แม่ล้วนได้ทำเพิ่มเติม ยังคงมีร่องรอยให้เห็นคืองานก่อผนัง เสริมจากของเดิมสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๑.๐๐ เมตร เพราะหลังคาจั่วต้องมีใบดั้งสูง จึงจะมีความสง่างามและภายในโปร่งไม่ทึบ รวมทั้งงานก่อเสริมเสามุขหน้า ๒ คู่ สี่ต้นสูงขึ้นอีกต้นละ ๑.๐๐ เมตร (เอกสารหมายเลข ๙) เป็นการบันทึกไว้โดยนายใส น้อยถึง อยู่บ้านเลขที่ ๔๒๓ หมู่ที่ ๓ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปราชญ์ผู้รู้ในขณะนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๙๘ ศึกษาธิการอำเภอเมืองสุโขทัยได้จดทะเบียนแจ้งการครอบครองที่ดินวัดตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ไว้ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.๑) เลขที่ ๗๒๘ จำนวนเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ดังนี้
ทิศเหนือ จด ถนนจรดวิถีถ่อง ยาว ๕ เส้น ๑๐ วา
ทิศใต้ จด ป่า ยาว ๕ เส้น ๑๐ วา
ทิศตะวันออก จด หมู่บ้านราษฎร ยาว ๘ เส้น
ทิศตะวันตก จด ที่ดินโรงเรียนบ้านเมืองเก่า ยาว ๘ เส้น
(เอกสารหมายเลข ๑๐)
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ กรมการศาสนา โดยร้อยเอกอดุลย์ รัตตานนท์ ดำลงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗ (เอกสารหมายเลข ๑๑หน้า ๕๑๙ – ๕๒๐) ขณะนั้นวัดตระพังทองมีพระมหาเจริญ ธมฺมโชโต เป็นเจ้าอาวาสได้ให้ประวัติไว้ ซึ่งบางส่วนอาจจะมีการคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงบ้าง เนื่องจากขาดการสืบค้นรวบรวมข้อมูล แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ยังมีเค้าโครงความเป็นจริงอยู่ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน