
หัวข้อการศึกษาค้นคว้า เรื่องการเปลี่ยนแปลงของงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ
และวิถีชีวิตของคนเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย .....
บทคัดย่อ
หัวข้อการศึกษาค้นคว้า เรื่องการเปลี่ยนแปลงของงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ และวิถีชีวิตของคนเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางภรณี กังวาลและนักเรียนโรงเรียนลิไทพิทยาคม
..........................................................................................................................................................................
รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งมาศึกษาวิจัย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชุมชนบ้านเมืองเก่าเมื่อ 100 ปี ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงของงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟและวิถีชีวิตของคนเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านเมืองเก่าซึ่งมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 700 ปี ไม่สามารถจะเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์(ชาติ)เมืองสุโขทัยในอดีต จึงคัดเลือกประเด็นศึกษาที่สำคัญ ๆ ในระยะเวลาที่สามารถจะสืบค้นจากผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ประเด็นหลักที่ได้จากการศึกษารวบรวมข้อมูลจากเอกสารประกอบบทสัมภาษณ์
ยุคที่1 เจ้าคุณโบราณ จากการวิเคราะห์ข้อมูลในทุก ๆ ด้านทำให้เห็นภาพเมืองเก่าสุโขทัยยุคเจ้าคุณโบราณ ย้อนรอยลำดับเหตุการณ์บ้านเมืองเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460- 2496 หลังจากที่เจ้าคุณโบราณเดินทางมาตามคำบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และจำพรรษาที่วัดราชธานีดูแลโบราณสถานที่เมืองเก่าสุโขทัยและเมืองเก่าศรีสัชนาลัย ผลงานที่ปรากฏ ท่านนำชาวบ้านขุดลอกคลองส่งน้ำหลายครั้ง จนทำให้มีน้ำตระพังทองและตระพังภายในกำแพงเมืองเช่นทุกวันนี้ ปี พ.ศ. 2465 เกิดโรงเรียนวัดตระพังทอง ปี พ.ศ. 2473 สร้างถนนจรดวิถีถ่องเชื่อมจังหวัดตาก-เมืองเก่า มีผู้คนอพยพมาอยู่บ้านเมืองเก่าเพิ่มมากขึ้น ปี พ.ศ. 2476 ได้ฟื้นฟูงานประเพณีลอยกระทงที่วัดตระพังทอง เป็นที่รู้จักของเมืองสุโขทัยและจังหวัด
ใกล้เคียง ท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมากมายและได้มอบหมายให้กรมศิลปากร สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงในเวลาต่อมา
ยุคที่ 2 กรมศิลปากร จากการวิเคราะห์ข้อมูลในทุก ๆด้านตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2478 คณะรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสำรวจฟื้นฟูโบราณสถานโบราณวัตถุและมีนโยบายในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้มีโครงการฟื้นฟูโบราณสถานโบราณวัตถุในปีพ.ศ. 2496 ได้ส่งกรมศิลปากรคณะแรกเข้ามาได้แก่ นายมะลิ โคกสันเทียะ ต่อมานายนิคม มุสิกคามะ เข้าบริหารจัดการพัฒนาทำให้เกิดเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ทับซ้อนโบราณสถานซึ่งอยู่บริเวณตระพังตระกวน ตระพังเงิน ตระพังสอ ตระพังตาล อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและวัดตระกวน มีเรื่องราวการวิวาทบาดหมางประท้วงถึงนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นจนเกิดชุมชนใหม่ เช่น ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ชุมชนรามเล็ก
ชุมชนรามใหญ่ และชุมชนลิไท ในที่สุด กรมศิลปากรต้องการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี ทำให้ในเวลาต่อมาปี พ.ศ. 2520 กรมศิลปากรและจังหวัดสุโขทัยได้จัดงานรัฐพิธีขึ้น ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ยุคที่ 3 แหล่งมรดกโลก การจากวิเคราะห์พัฒนาการบ้านเมืองเก่าจากยุคเจ้าคุณโบราณ เข้าสู่ยุคกรมศิลปากรจนกระทั่งได้รับยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 จากมีบ้านเรือนจำนวน 40-50 หลัง ถึงปัจจุบันมี 2,177 หลัง มีผู้อพยพมาตั้งบ้านเรือน ประกอบอาชีพทำนา เปลี่ยนแปลงมาเป็นอาชีพต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งด้านการท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศเดินทางมาศึกษามรดกศิลปวัฒนธรรม ผู้คนสามารถดำรงชีวิตและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคนในชุมชนและสามารถดำรงไว้ซึ่งงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ทั้งบอกเล่าเกี่ยวกับงานประเพณีลอยกระทงของชุมชนวัดตระพังทองอันเป็นพัฒนาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นความทรงจำที่ดีในการกำเนิดชุมชนแห่งใหม่หลังจากการล้มสลายของบ้านเมืองเก่าสุโขทัยในอดีตที่ไม่สามารถหวลกลับมาได้อีกครั้ง